กทม. 6 ก.ค.-ปลัด สธ. ย้ำชัดระเบียบกระทรวงฯ ไม่สามารถลงโทษนักเรียนด้วยการกล้อนผมได้ หากต้องการให้เด็กตัดผมควรทำทัณฑ์บน-เชิญผู้ปกครอง
เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ทุกปีก็ว่าได้โดยเฉพาะช่วงเปิดภาคเรียน สำหรับเด็กนักเรียนที่ถูกครูทำโทษด้วยการกล้อน ล่าสุดมีกรณีของเด็กนักเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอ.ยางชุมน้อย จังหวัดศรีษะเกษ ที่ผู้ปกครองออกมาโพสต์เฟสบุ๊ค แสดงความไม่พอใจที่ลูกสาวซึ่งเรียนอยู่ถูกครูกล้อนผม แม้ต่อจะมีการออกมาชี้แจงจากครู นักเรียนและผู้ปกครองแล้ว แต่เรื่องของทรงผมมีการเคลื่อนไหวของเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้อง ที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการไว้ทรงผมสำหรับนักเรียน และยังเชิญชวนนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย มาร่วมเป็นโจทก์ฟ้องศาลปกครอง ว่ากฎระเบียบทรงผมในปัจจุบัน ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดรัฐธรรมนูญ
หากเปิดดูระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน ปี 2563 ระบุชัดเจนว่า ข้อ 4 นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เกินตีนผม ด้านหน้าและกลางศรีษะเป็นไปตามความเหมาะสมเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้เช่นกัน ถ้ายาวจะต้องรวบผมเพื่อความเหมาะสม เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นแนวทางปฎิบัติที่มีมานานแล้ว แต่ที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยคือ ข้อ 5 เป็นข้อห้ามสำหรับนักเรียนชายและหญิงต้องห้ามดัดผม ย้อมสีผม ตัดแต่งทรงเป็นลวดลาย และไว้หนวดเครา เนื่องจากเกรงว่าเด็กนักเรียนจะตัดหรือไว้ผมทรงเดียวกับบุคคลที่ชื่นชอบอย่างนักฟุตบอล ผมทรงโทมาฮอว์ค เป็นลวดลายต่างๆ หรือศิลปินหญิงต่างประเทศที่ต้องดัดและทำสีผม แต่ที่ถือเป็นปัญหาคือข้อ 7 ที่ให้อำนาจสถานศึกษาโดยความเห็นชอบคณะกรรมการสถานศึกษา ที่มีตัวแทนอาทิ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน หรือศิษเก่า วางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจง ที่มีความเหมาะสม โดยไม่ขัดแย้งกับระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาสามารถเข้มกว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือทรงผมของรักเรียนจะวางระเบียนความสั้นยาวตามระดับชั้นมัธยมต้น-ปลายได้ ให้ตัดสั้นได้ แต่ต้องไม่ยาวกว่าระเบียบของกระทรวง
นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เมื่อระเบียบของกระทรวงประกาศใหม่แล้ว แต่โรงเรียนบางแห่งยังไม่ได้ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ออกระเบียบใหม่เป็นแนวทางปฎิบัติ หลักเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ไม่ใช่ออกโดยผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูเพียงฝ่ายเดียว
ส่วนเรื่องของการลงโทษกล้อนผมนักเรียนที่เป็นปัญหา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่าการลงโทษเด็กจะต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งในข้อ 5 เขียนไว้ชัดเจน โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 4 สถาน ดังนี้ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนประพฤติ และ4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
และ ข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท การลงโทษต้องคำนึงถึงอายุนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบด้วย เพื่อแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน หรือให้เด็กสำนึกในความผิด ดังนั้นเรื่องของการกล้อนผมจึงไม่สามารถทำได้ หากต้องการให้เด็กตัดผมทางที่ดี คือควรทำทัณฑ์บน และเรียกผู้ปกครองมาให้รับทราบปัญหาและดำเนินการแก้ไข.-สำนักข่าวไทย