เพชรบูรณ์ 29 พ.ย.-สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ชี้แจงกรณีโซเชียลแชร์การทำงานของ รพ.วิเชียรบุรีว่า ทำท่อเครื่องช่วยหายใจหลุด และนำอาหารไปกินในห้องอภิบาลทารกแรกเกิด โดยขอให้หยุดการแชร์และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
นายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยนายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ ผอ.โรงพยาบาลวิเชียรบุรี นายแพทย์นรุตม์ นิวัฒนกาญจนา แพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม และนางสุมล สายอุ่นใจ หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลวิเชียรบุรี ร่วมกันแถลงข่าวกรณีมีการโพสต์ภาพ การทำงานของโรงพยาบาลวิเชียรบุรีว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กแรกคลอดเสียชีวิต และมีการแชร์ไปในสื่อโซเชียลอย่างแพร่หลาย จนมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ภาพที่โพสต์และแชร์ดังกล่าว เป็นภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรี อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ แต่ทั้งนี้เป็นภาพที่ถ่ายคนละวันแล้วนำมาโพสต์ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รับประทานอาหารในขณะทำงาน รวมทั้งนำบุคคลภายนอกเข้ามาภายในห้องทำงาน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภาพที่พยาบาลกำลังรับประทานอาหารนั้น อยู่ห่างจากห้องปลอดเชื้อที่ให้การรักษาพยาบาลประมาณ 5 เมตร และอยู่ในระหว่างพักกลางวัน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องรับประทานอาหาร แต่เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จึงต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการเข้าไปในห้องปลอดเชื้อหรือทำการพยาบาลผู้ป่วย จะต้องมีการทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังการให้บริการ ส่วนภาพที่มีเด็กเข้าไปในห้องของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นลูกของเจ้าหน้าที่ และเป็นการเข้าไปเพียงครู่เดียวช่วงที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะออกเวรและกลับบ้าน แต่ทั้งนี้ได้กำชับให้มีการกั้นห้องให้เป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และกำชับไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในห้องทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายแพทย์นรุตม์ นิวัฒนกาญจนา นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นที่แม่ของเด็กมาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2559 ด้วยอาการครรภ์ผิดปกติในขณะที่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ โดยน้ำคล่ำเริ่มเดิน เด็กหันก้นออก และมีสายรกพันตัวเด็ก ซึ่งหากทิ้งไว้อาจจะทำให้ทั้งแม่และเด็กเสียชีวิต จึงได้ทำการผ่าตัดเอาเด็กออกมาปรากฏว่ามีน้ำหนักเพียง 1,400 กรัม ซึ่งเสี่ยงต่อการมีชีวิต แต่แพทย์ก็ได้ให้การดูแลรักษาโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้น้ำนมทางสายยาง และได้เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเด็กสามารถหายใจเองได้ก็จะถอดเครื่องช่วยหายใจ ส่วนภาพคลิปวีดีโอที่ปรากฏ เป็นภาพที่ใช้สำลีชุบน้ำนมแล้วนำไปแตะที่ลิ้นของเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับรู้รสชาติของน้ำนม ส่วนเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงหายใจของเด็กที่มีภาวะการณ์หายใจไม่สะดวก แต่ต่อมาปรากฏว่าเด็กได้มีอาการแทรกซ้อนคือ ติดเชื้อทางปอด จึงทำให้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559
นายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ ผอ.โรงพยาบาลวิเชียรบุรี กล่าวว่า หลังจากที่เด็กได้เสียชีวิต ทางโรงพยาบาลได้ชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตแก่แม่และญาติของเด็ก ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ แต่จู่ๆ ก็มีการนำคลิปและภาพ พร้อมโพสต์ข้อความตามที่ปรากฏ แต่ทั้งนี้โรงพยาบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้พยายามติดต่อกับเจ้าของเฟซบุ๊กที่โพสต์ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ และขอให้หยุดการแชร์และโพสต์แสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งอาจจะเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็เป็นได้.-สำนักข่าวไทย