กทม.3 ก.ค.- อธิบดีศาลเยาวชนฯ แจงหลักพิจารณา สั่งบุคคลให้เป็น“คนไร้ความสามารถ” ภายใต้การดูแลของ ”ผู้อนุบาล” ชี้ ต้องมีใบแพทย์ยืนยันว่า ร่างกาย หรือ จิตใจ ป่วยควบคุมสติ ตนเองไม่ได้ -อัมพาต ส่งผล ถูกจำกัดความสามารถทำนิติกรรม
จากกรณีเว็บไซต์ ราชกิจจกานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี เรื่องศาลมีคำสั่งให้นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.ศึกษาธิการและ รมว.พาณิชย์ เป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของนางพิชนี โพธารามิก ภรรยา
ล่าสุด นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เปิดเผย หลักเกณ์ของศาลเยาวชนฯ ในการพิจาณาผู้ใด จะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความดูแลของผู้อนุบาลว่า การยื่นคำร้องให้บุคคลใดเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 มีหลักเกณฑ์ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลวิกลจริต ซึ่งหมายความถึง บุคคลที่มีจิตไม่ปกติ หรือ สมองพิการ ควบคุมสติตนเองไม่ได้ ขาดความรู้สึกรับผิดชอบอย่างคนธรรมดา ไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆได้ รวมถึงคนที่เจ็บป่วยเป็นอัมพาต ไม่สามารถจัดกิจการต่างๆของตนได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องมีผู้อนุบาล คอยดูแลสภาพชีวิต ทำนิติกรรม หรือจัดการธุรกิจการงานแทน
สำหรับผู้มีสิทธิยื่นขอเป็นผู้อนุบาล ต้องมีสัมพันธ์ทางสายเลือดโดยตรง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน หรื่อคู่สมรส นำใบความเห็นแพทย์อายุไม่เกิน 6 เดือนมายื่นคำร้องต่อศาล โดยช่องทางสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งจะมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ยื่นคำร้องต่อศาลแทน หรือ หากมีความพร้อมสามารถแต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลได้ เสียค่าคำร้อง 200 บาท ระยะเวลา รอการพิจารณาประมาณ 2-3 เดือน
อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ กล่าวอีกว่า เมื่อบุคคลใด ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ จะไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ และจะมีผู้อนุบาลคอยดูแลจัดการแทน โดยคำสั่งดังกล่าวมีเจตนาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ไร้ความสามารถ เช่นกรณี การเบิกเงินในบัญชีผู้ไร้ความสามารถมาทำการรักษาพยาบาลผู้ไร้ความสามารถให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเบิกเงินจำนวนมาก หรือนำทรัพย์สินออกขาย ต้องมาขออนุญาตต่อศาลเป็นรายกรณี ซึ่งที่ผ่านมาศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กคอยกำกับดูแลผู้อนุบาลอีกครั้ง และต้องรอให้พ้นระยะเวลา 30 วัน นับจากศาลมีคำสั่งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทำการยื่นอุทธรณ์ จากนั้นผู้อนุบาลจึงจะสามารถจัดการทรัพย์สินบางประเภทได้
ทั้งนี้สำหรับสถิติการยื่นคำร้องขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้บุคลลเป็นคนไร้ความสามารถ เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ปีละประมาณ 20 -30 % โดยในปี 2562 มีผู้ยื่นคำร้องดังกล่าวในศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ ประมาณ 500 ราย -สำนักข่าวไทย
