ราชบุรี 3 ก.ค.- คณะสมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่พบปะประชาชนและรับฟังความคิดเห็นนำข้อเสนอแนะไปประกอบการดำเนินงาน และเพื่อติดตามผลการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องคนหาย
เมื่อเวลา 09.00 น. (3 ก.ค. 63 ) คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง นำโดย นายวิทยา ผิวผ่อง รองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วยนายจเด็จ อินสว่าง พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายลักษณ์ วจนานวัช พลเอก ดนัย มีชูเวท นายเฉลา พวงมาลัยนายเจตน์ ศิรธรานนท์ นายอนุศักดิ์ คงมาลัย นายไพโรจน์ พ่วงทอง พลเอก สราวุฒิ ชะลออยู่ นายจิรชัย มูลทองโร่ย และพลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ลงพื้นที่พบประชาชน โดยมีนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมตัวแทนจากหลายภาคส่วนให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะไปสู่การแก้ไขด้วยกลไกของวุฒิสภา โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ กลุ่มการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน ในพื้นที่ 7 ภูมิภาค รวม 76 จังหวัด โดยส่วนของภาคกลางมีพื้นที่ดำเนินการ 17 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
นายวิทยา กล่าวว่า คณะได้ลงพื้นที่ราชบุรีเป็นวัตถุประสงค์ของประธานวุฒิสภาที่ต้องการเปิดช่องทางการสื่อสารติดต่อระหว่างประชาชนกับสมาชิกวุฒิสภา โดยมีหน้าที่ติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ การมาวันนี้มุ่งเน้นที่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่จะใช้เงินกู้ โดยเงินที่จะถ่ายโอนไปจากปีงบประมาณปี 63 จะไปเยียวยาในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนหลักของประเทศ จะมีการเสนอโครงการต่างๆที่ไปสู่การเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเอง เป็นการพบปะพูดคุยกันว่าใน 4 กลุ่มนี้ของเกษตรกรมีแนวคิดอย่างไร หรือความเห็นเรื่องต่างๆอย่างไรบ้างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะทำอย่างไร มีการแบ่งกลุ่มเป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ และ กลุ่มเกษตรปลอดภัย จะมีการพูดคุยกัน เพราะโครงการที่รัฐบาลกำลังนำงบมานี้ ก็จะไปสนับสนุนเกษตรกรในส่วนเหล่านี้ ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของการเยียวยาประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ผู้ด้อยโอกาส มีมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือรวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพ เรื่องค่าไฟฟ้า ประปา จะนำข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลมาเล่าให้ประชาชนฟัง ว่าใครที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาบ้าง หรือการลดค่าครองชีพด้านใดบ้าง หากไม่รู้จะแนะนำให้ไปติดต่อหน่วยงานนั้นๆ ส่วนสุดท้ายเป็นการให้ข้อคิดเห็นการใช้ชีวิตหลังวิกฤตโควิด ยังอยู่ระหว่างการควบคุมความปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หวังผลว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติช่วยเหลือประชาชน ใช้เงินงบประมาณราชการให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ คณะฯ จะลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำเสียลงสู่พื้นที่การเกษตรและแหล่งน้ำธรรมชาติที่วีระชัยฟาร์ม ซึ่งมีการบริหารจัดการระบบน้ำเสียที่ดี
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ราชบุรีแบ่งพื้นที่เป็น 10 อำเภอ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน ผลผลิตมวลรวมของจังหวัดหรือ จีดีพี รายงานประจำปี 2560 มีการเก็บตัวเลขไว้ ภาคการเกษตรประมาณ 2 หมื่น 5 พันล้านบาท และนอกภาคการเกษตรประมาณ 1 แสน 1 หมื่น 7 พันล้านบาท มูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นต่อจังหวัดราชบุรีจะอยู่ที่นอกภาคการเกษตร แต่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตรจะมีเยอะ แต่ว่าสร้างมูลค่าได้น้อย คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นปัญหาที่จังหวัดพยายามหาทางที่จะคิดโครงการแผนงานที่จะรองรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตร อีกทั้งราบุรีเป็นอันดับ 1 ของการผลิตสุกรของประเทศ และอันดับ 2 ของการปลูกสับปะรดรองลงมาจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และยังมีมะพร้าวน้ำหอมที่มูลค่าผลิตติดอันดับที่ 1 ของโลก และมีกุ้ง รวมทั้งพืชผักที่เติบโตทางการต่างประเทศอื่นๆอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างมีการพูดคุยได้มีชาวบ้าน ต.ห้วยไผ่ อ.เมืองราชบุรี นำโดย นายสมชาย หลวงละ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 178 หมู่ 2 ต.ห้วยไผ่ ได้นำหนังสือยื่นต่อนายเฉลา พวงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา เพื่อทวงถามถึงผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในจ.ราชบุรี ซึ่งตนเองและเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยื่นหนังสือให้คณะของท่าน สว. เมื่อครั้งที่มาสวนผึ้ง จึงอยากทราบผลการดำเนินงานว่าแก้ไขไปในทิศทางใดแล้วบ้าง เพราะปัจจุบัน ปัญหายังคงอยู่ และบางพื้นที่ยังหนักกว่าเดิม และขอให้เร่งติดตามค้นหานายสงคราม เอื้อนยศ ซึ่งเป็นชาวบ้านหมู่ 16 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ที่ได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดตามตัวได้.-ก.007