Exclusive Online | สำนักข่าวไทย
1 ก.ค.63.- ธุรกิจหลักขององค์การค้าฯ มี 2 ด้าน คือ ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์และโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งตั้งแต่ปี 2507 มีมติ ครม.และหนังสือคำสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้การจัดพิมพ์หนังสือเรียนทั้งหมด ต้องว่าจ้างโรงพิมพ์ของกระทรวงฯ ดำเนินการเท่านั้น หากโรงพิมพ์ของกระทรวงฯ ไม่สามารถจัดพิมพ์ได้ จึงจะให้โรงพิมพ์ของหน่วยราชการอื่นจัดพิมพ์แทน และหากโรงพิมพ์ของส่วนราชการอื่นทำไม่ได้ ค่อยว่าจ้างเอกชน (อ่านข่าว :
เลิกจ้างฟ้าผ่า! พนักงานองค์การค้าของ สกสค.เกือบพันคน)
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรงพิมพ์คุรุสภา จึงทำธุรกิจผูกขาดในการพิมพ์ตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และมีกำไรมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม พันธกิจหลักขององค์การค้าฯ มิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไร แต่เพื่อให้การจัดทำหนังสือเรียนและอุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ มีคุณภาพ มาตรฐาน และรักษาระดับราคาที่เป็นธรรม ไม่เป็นภาระต่อพ่อแม่ผู้ปกครองมากเกินไป โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ควบคุม และกำหนดราคาจำหน่ายให้องค์การค้าฯ
การแข่งขันเสรี…จุดเริ่มต้นปัญหาองค์การค้าฯ??
จากนโยบายที่ให้โรงเรียนทุกแห่งต้องใช้ตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเกือบทั้งหมดจัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ขององค์การค้าฯ เท่านั้น ถึงปี 2542 นโยบายของภาครัฐได้หันมาส่งเสริมให้ธุรกิจทุกประเภทแข่งขันกันอย่างเสรี รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยกำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่ง สามารถเลือกใช้หนังสือเรียนจากสำนักพิมพ์เอกชนได้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะประกาศรายชื่อหนังสือและสื่อการเรียนต่าง ๆ ในเว็บไซต์ให้สถานศึกษาเลือกเองตามรายชื่อที่ประกาศ นโยบายดังกล่าวได้กลายเป็นจุดสิ้นสุดการทำธุรกิจผูกขาดของโรงพิมพ์องค์การค้าฯ ไปโดยปริยาย
ในเวลาเดียวกัน โครงสร้างองค์กรที่ค่อนข้างใหญ่โตอุ้ยอ้าย และมีพนักงานจำนวนมากที่อายุงานยาวนานนับสิบปี บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่องค์การค้าฯ ยังต้องปฏิบัติตามพันธกิจหลัก คือการรักษาระดับราคาหนังสือและอุปกรณ์การเรียนโดยไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ผลประกอบการขององค์การค้าฯ เริ่มขาดทุน บวกกับภาระหนี้สินสะสมพอกพูนเรื่อยมา
พิมพ์ตำราเรียนไม่ทัน…ดาบสองฟันซ้ำ
คงไม่อาจกล่าวโทษความล่าช้าในการทำงาน ว่าเป็นความผิดขององค์การค้าฯ โดยตรง เพราะปัญหาการจัดพิมพ์ตำราเรียนไม่ทันในปี 2560 ส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าของงบประมาณด้านการศึกษาในปีนั้น ขณะเดียวกันก็มีการกล่าวโทษกันไปมาระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดที่เขียนตำรา กับองค์การค้าฯ ว่ามีปัญหาเรื่องการส่งต้นฉบับล่าช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น จึงตัดสินใจให้โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาร่วมจัดพิมพ์หนังสือเรียนบางส่วนแทน ในช่วงเวลานั้นโรงพิมพ์จุฬาฯ ยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงสามารถจัดพิมพ์หนังสือเรียนได้โดยไม่ขัดต่อมติ ครม.เดิม
แต่ผ่านมาอีก 2 ปี ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 มีการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ขึ้น และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย รวมถึงโรงพิมพ์จุฬาฯ ก็ได้ย้ายไปสังกัดกระทรวงใหม่ แต่ยังคงได้รับสิทธิ์ในการพิมพ์ตำราเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพิ่มขึ้นอีก ทำให้องค์การค้าฯ ขาดรายได้เป็นมูลค่าถึงกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจโรงพิมพ์โดยเฉพาะการพิมพ์ตำราเรียน ถือเป็นรายได้หลักขององค์การค้าฯ มายาวนานตลอด 70 ปี
นอกจากข้อวิจารณ์เรื่องการด้อยประสิทธิภาพในการบริหารงาน ปัญหาผลประโยชน์ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ใต้พรม และการถูกการเมืองเข้าแทรกแซงแล้ว ดาบสองเล่มที่ฟาดฟันใส่องค์การค้าฯ ก็คือ การเปิดเสรีธุรกิจในปี 2542 ที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดการผูกขาดการพิมพ์ตำราเรียนขององค์การค้าฯ และการโอนสิทธิ์การพิมพ์หนังสือเรียนจากโรงพิมพ์องค์การค้าฯ ไปให้โรงพิมพ์จุฬาฯ นี่เอง
แม้วันนี้ องค์การค้าของ สกสค. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2493 ตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ในชื่อ “องค์การค้าของคุรุสภา” เดิม จะยังมีชีวิตอยู่ด้วยลมหายใจที่รวยริน แต่ที่ดูเหมือนกำลังจะหมดลมหายใจลงแล้ว คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ 961 คน ที่ถูกคำสั่งเลิกจ้างแบบฟ้าผ่าเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย
ดูข่าวเพิ่มเติม