กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติการสอดรับฝนทิ้งช่วง เร่งเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศและทำฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เกษตรที่ฝนตกน้อย เริ่ม 1 ก.ค.นี้
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงใหม่ให้สอดคล้องกับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปรับที่ตั้งหน่วยฝนหลวง ดังนี้ ภาคเหนือย้ายจากจังหวัดแพร่ไปเชียงใหม่ แต่คงหน่วยจังหวัดตากไว้ เนื่องจากปริมาณฝนตอนบนของประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสำคัญโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ภาคกลางย้ายจากราชบุรีไปกาญจนบุรี ส่วนที่ลพบุรียังคงไว้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไว้ที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และสุรินทร์ ภาคตะวันออกคงหน่วยปฏิบัติการไว้ที่จังหวัดระยอง ส่วนภาคใต้ปรับลดหน่วยจังหวัดชุมพร แต่ยังคงหน่วยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา โดยให้หน่วยปฏิบัติการเดิมเป็นหน่วยเติมสารฝนหลวง
นายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า การจัดที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงใหม่ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ คำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นฤดู ซึ่งแสดงผลในแผนที่บันทึกไว้พบว่าตอนบนของประเทศ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย มีฝนน้อย ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ไม่มาก ขณะเดียวกันยังต้องทำฝนเติมน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตากมีปริมาตรน้ำน้อย ส่วนภาคกลางนั้น จะเร่งเติมน้ำสู่เขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ตามที่กรมชลประทานประสานมา เนื่องจากหากลุ่มเจ้าพระยาน้ำน้อยจะผันน้ำจาก 2 เขื่อนนี้มาเสริม สำหรับภาคตะวันออกจะให้ความสำคัญกับการเติมน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนทุกกิจกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นอกจากนี้ ยังพิจารณาจากชนิดของการเกษตรที่ทำในพื้นที่ต่าง ๆ ว่า เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือทำประมงประเภทใด ช่วงไหนต้องการน้ำมาก-น้ำน้อย อีกทั้งปีนี้เป็นปีที่น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีน้อย กรมชลประทานให้ภาคอุปโภค-บริโภคเป็นสำคัญ ส่วนการทำเกษตรให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก จึงต้องวางแผนปฏิบัติทำให้ฝนตกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะต้องช่วยเหลือให้มีน้ำเพียงพอ.-สำนักข่าวไทย