กรุงเทพฯ 25 มิ.ย.-“สมคิด” เร่งรัด ก.พลังงาน โดยเฉพาะ ปตท.-กฟผ. เร่งลงทุนตามแผน 3 ปี กว่า 1 ล้านล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ จ้างงาน ช่วยชุมชน หลังคาดเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้ชะลอตัวหนัก โดยในส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนมั่นใจประกาศรับซื้อ 1 ก.ค. มั่นใจบล็อกเชนยกระดับรายได้เกษตรกร ขอให้ ปตท.รับซื้อ 20-30 ล้านลิตร
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างหารือกระทรวงพลังงานว่า ขอให้กระทรวงฯ เร่งรัดการลงทุนภายใต้แผนพลังงานสร้างชาติ โครงการลงทุนของ บมจ.ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอให้ช่วยเหลือชุมชน ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงการท่องเที่ยว มองไปถึงช่องทางจำหน่าย รวมถึงการจ้างงาน ซึ่งควรจะเร่งรัดโครงการที่จะลงทุนปีหน้ามาเป็นปีนี้ เพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจที่หนักมากจากโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนที่คาดว่าจะเข้า ครม.สัปดาห์หน้า
“จีนยังไม่ประกาศจีดีพีปีนี้ สิงคโปร์ก็ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 เพราะมีรายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่มีการเกษตรรองรับเหมือนกันไทย ซึ่งก็อยากให้กระทรวงพลังงานเร่งลงทุนและช่วยเหลือชุมชน ปตท. กฟผ.ก็ควรร่วมมือกับกองทุนหมู่บ้านเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยว การเกษตร รับเด็กจบใหม่ เช่น วิศวะ ไปฝึกงานให้มีงานทำ รวมทั้งดูแลลดราคาก๊าซหุงต้ม เอ็นจีวี เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชน และขอให้สื่อลงข่าวที่สร้างกำลังใจต่อภาคประชาชน เพราะหากลงข่าวเฉพาะเศรษฐกิจตกต่ำด้านเดียวก็ไม่สร้างพลังใจแก่คนไทย ในยามนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยสร้างเม็ดเงินไปสู่ชุมชนทั้งหมด” นายสมคิด กล่าว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาพรวมแผนพลังงานสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.เร่งรัดการลงทุน 3 ปี (2563-2565) จะมีเงินลงทุนกว่า 1.1 ล้านล้านบาทประกอบด้วย ปี 2563 วงเงิน 203,770 ล้านบาท, ปี 2564 วงเงิน 457,473 ล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 450,250 ล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนของโรงกลั่นน้ำมันตามมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ,การลงทุนสถานีแอลเอ็นจี,ศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาค,สายส่งไฟฟ้า ,การลงทุนรือถอนแท่นปิโตรเลียม ,การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่
2.แผนลดรายจ่ายภาคประชาชน ช่วงโควิด-19 ทั้งลดราคาก๊าซหุงต้ม,ลดราคาน้ำมัน ,นำเข้าแอลเอ็นจีราคาตลาดจร ลดต้นทุนไฟฟ้า, มอบแอลกอฮอล์แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั่วประเทศ รวมเป็นลดรายจ่ายกว่า 40,500 ล้านบาท 3.กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูหลังโควิด-19 เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ลงทุนพลังงานทดแทน นวัตกรรมพลังงาน โดยปี 2563 จะมีเงินกระตุ้นระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 3,600 ล้านบาท, ลงทุน 25,363 ล้านบาท, สร้างรายได้ 2,335 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 8,440 คน โดยจะเห็นผลประโยชน์ชัดเจนปี 2564-2565 วงเงิน 10,139 ล้านบาทและ 15,110 ล้านบาท ตามลำดับ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ คาดว่า ครม.จะพิจารณาเห็นชอบโครงการวันที่ 30 มิถุนายน และกระทรวงพลังงานจะเปิดให้เอกชนสมัครเข้าโครงการเร่งด่วน (Quick Win )100 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกกลางเดือน สิงหาคม ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเริ่มลงทุนต้นปี 2564 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ คาดจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการเดือนตุลาคม-ธันวาคม นี้ โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน 2563-2565 จะมีเม็ดเงินลงทุนและรายได้รวม 41,900 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการนำระบบบล็อกเชนมาซื้อขายไบโอดีเซลบี 100 เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร โดยต้องการเห็นราคาผลปาล์มที่สะท้อนกลไกลตลาดที่แท้จริง โดยราคาผลปาล์มไม่น่าจะต่ำกว่า 4 บาท/กก.ซึ่งที่ผ่านมานั้น โครงการพลังงานทดแทน แม้จะมีเป้าหมายหลักยกระดับรายได้เกษตรกรที่กลับพบว่าผู้ที่มีรายได้ทำกำไรสูงสุดกลับเป็นกลุ่มทุน กลุ่มโรงงานบี 100 โรงงานสกัด พ่อค้าคนกลาง ดังนั้น หากใช้บล็อกเชนก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างทดลองระบบและระยะต่อไป ก็ได้ให้นโยบาย แก่ ปตท.ว่าควรจะใช้บล็อกเชนมาซื้อขายบี 100 ประมาณ 20-30 ล้านลิตร
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการสร้างรายได้ชุมชนทั้ง กฟผ. ปตท. และทุกหน่วยงานจะร่วมกันให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ทั้งชุมชนโรงไฟฟ้า ท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท. จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินในราคาทุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสร้างห้องเย็น ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือสถานีย่อยนำร่องภาคละ1 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรเช่าห้องเย็นราคาถูก เพื่อยืดอายุผลผลิตและขายได้ราคา โดยจะมีการนำร่องภาคละ 1 แห่ง เช่น สถานีหลังสวน จ.ชุมพร เพื่อเก็บมังคุด เป็นต้น
นอกจากนี้ กฟผ.จะมีการจัดตั้งบริษัท Innovation Holding ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 40 ,บริษัท ราช กรุ๊ป ถือหุ้น ร้อยละ30 และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้น ร้อยละ30 เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology ผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร. -สำนักข่าวไทย