ประจวบคีรีขันธ์ 23 มิ.ย.-ดีเอสไอลุยตรวจโครงการบ้านจัดสรรที่หัวหิน พบต่างด้าวให้คนไทยเป็นนอมินีตั้งบริษัทดำเนินการโครงการ หลอกเหยื่อทำสัญญาซื้อบ้าน แต่ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง แถมสร้างไม่เสร็จ พบยังเลี่ยงภาษีอีกด้วย
พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง, นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 และเจ้าหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายชาวไทยและชาวต่างชาติ 18 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อบ้านโครงการบ้านจัดสรร 5 โครงการ ซึ่งมีคนต่างด้าวชาวอังกฤษ ร่วมกับคนไทย จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นนอมินีเพื่ออำพรางในการประกอบกิจการธุรกิจขายบ้านจัดสรรหลายโครงการ แต่แท้จริงแล้วคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการทุกโครงการ นอกจากนี้ ยังพบมีการโฆษณาขายบ้านจัดสรรโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ในลักษณะที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และเอาเปรียบผู้บริโภค จากการตรวจสอบทั้ง 5 โครงการพบว่า ใช้เวลาก่อสร้างมานานกว่า 5-7 ปี ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แม้ว่าจะจ่ายเงินไปกว่าร้อยละ 95
พฤติการณ์คือคนต่างด้าวร่วมกับคนไทยหลอกลวงผู้เสียหาย โดยการโฆษณาขายบ้านจัดสรร เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำสัญญากับโครงการ ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามสัญญาที่ได้โฆษณาไว้ และก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา จึงไม่สามารถส่งมอบบ้านได้ตามกำหนด นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว มิได้มีการขออนุญาตจัดสรร และการก่อสร้างแต่อย่างใด ตลอดจนมีปัญหาด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ไม่สามารถขอเลขที่บ้านได้ เป็นเหตุให้กระทบกับการขอใช้น้ำประปาและไฟฟ้า
ทั้ง 5 โครงการ ยังพบข้อมูลการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่มิได้นำรายได้มาเสียภาษี อันมีลักษณะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ถือเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายการจัดสรรที่ดินและการก่อสร้าง โดยผลักภาระให้ผู้บริโภคไปดำเนินการเอง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาและเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ การกระทำของคนต่างด้าว ที่ให้นิติบุคคลไทยเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว ตามบัญชี 1 (9) การค้าที่ดิน และบัญชี 3 (10) การก่อสร้าง ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยปรากฏจากหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สัญญาการก่อสร้าง และข้อมูลทางการเงิน คิดเป็นสินทรัพย์รวมกันไม่น้อยกว่า 240 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์รวมเกิน 100 ล้านบาท อันเข้าข่ายลักษณะที่เป็นคดีพิเศษ
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดดังกล่าว รวมทั้งความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนคนต่างด้าวดังกล่าวว่า มีการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่.-สำนักข่าวไทย