กทม. 23 มิ.ย. – หลังคลายล็อกดาวน์ หลายกิจการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ด้วยการติดตั้งอุโมงค์หรือตู้ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิดบนร่างกายกันอย่างแพร่หลาย แต่สมาคมโรคติดเชื้อ และ อย. มีคำเตือนอุโมงค์และตู้เหล่านี้ใช้สารเสี่ยงอันตราย ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนกับ อย. ใครฝ่าฝืนโฆษณาขายจะดำเนินคดีทันที
อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรค ความสูง 2 เมตร ยาว 1 เมตร 80 เซนติเมตร ทำงาน 3 ระบบ ทั้งฉีดพ่นรอบทิศทางด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อไฮโปคลอรัสแอซิด (Hypochlorous Acid) ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เป่าลมร้อน ดูดอากาศ และฉายรังสียูวีโดยอัตโนมัติเมื่อมีคนเดินผ่าน เป็นอุโมงค์ตัวอย่างฉีดพ่นฆ่าเชื้อบนร่างกายที่ “อัศวิน โรมประเสริฐ” คิดค้นและผลิตขึ้น ก่อนที่จะปรับรูปแบบมาเป็นอุโมงค์ขนาดเล็กลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งาน ช่วงแรกมียอดสั่งซื้อเข้ามามากจากหลายหน่วยงานที่ต้องการนำใช้ไปใช้คัดกรองโรคโควิด-19 แต่ด้วยสถานการณ์ในไทยไม่ได้รุนแรงมาก และ อย.เตือนว่าการใช้อุโมงค์หรือตู้พ่นสารฆ่าเชื้อโควิดเสี่ยงเกิดอันตราย ทำให้ยอดขายลดลง จนต้องเลิกผลิต ทั้งโครงการลงทุนไปเกือบล้าน แต่ขายได้ราว 400,000 บาทเท่านั้น
หลังคลายล็อกดาวน์ หลายกิจการที่กลับมาเปิดให้บริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สถานที่ราชการ และสถานที่ท่องเที่ยว พยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ด้วยการติดตั้งอุโมงค์ หรือตู้ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อบนร่างกายกันอย่างแพร่หลาย กระทั่งสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ อย. ต้องออกประกาศเตือนว่า การฉีดพ่นทําลายเชื้อโรคบนร่างกายไม่ได้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคฉีดพ่นบนร่างกายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.
จากการตรวจสอบพบว่า สารส่วนใหญ่ที่นำมาใช้เป็นวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้สำหรับฆ่าเชื้อโรคบนพื้น ฝาผนัง หรือผิววัสดุ หรือเครื่องสําอางที่ใช้ในการทำความสะอาดในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่เหลว และน้ำเกลือ ซึ่งเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อบนร่างกาย อาจเกิดอันตรายจากการสัมผัสผิวหนัง การสูดดมหายใจเข้าไป หรือเข้าตาได้ ที่สำคัญยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้ใช้บริการจนละเลยการดูแลป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี
รองเลขาธิการ อย. ย้ำผู้ใดผู้ผลิต นําเข้า จําหน่าย จัดทําฉลากหรือโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ฉีดพ่นบนร่างกาย ในอุโมงค์หรือตู้ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายของ อย. หากตรวจพบจะดําเนินคดีทันที ขณะที่อุโมงค์หรือตู้ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคบนร่างกาย ก็มีราคาสูง ตั้งแต่หลักหลายหมื่นจนถึงหลายแสนบาท จึงเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่เป็นจำเป็น และไม่เกิดประโยชน์ . – สำนักข่าวไทย