กรุงเทพฯ 23 มิ.ย..-นักเศรษฐศาสตร์ชี้ โควิด-19 กระทบความเหลื่อมล้ำรุนแรงทำเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา ด้านกสศ.จับมือ สพฐ.ตชด.อปท. เดินหน้า“ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” พร้อมจัดสรรทุนเสมอภาค ลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมให้ครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกว่า7.5แสนคน
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย จัดเวทีเสวนา “จับชีพจรความเสมอภาครับเปิดเทอม สู้วิกฤตให้น้องได้กลับโรงเรียน”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่3ในสังกัด สพฐ.ตชด.และอปท.จำนวน 753,997คน ทั่วประเทศ กสศ.ยังได้ร่วมมือกับครู สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษ ที่อาจหลุดออกนอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่งมีความเสี่ยงมากที่สุดพบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษ 3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,246 คน มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,914 คน และ มัธยมศึกษาตอนปลาย(เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คน ซึ่งนี่เป็นเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ทั้งหมดกว่า 1.6 แสนคน เท่านั้น สาเหตุส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน คือต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน มีปัญหาทางการเรียน ครอบครัว สุขภาพ ขาดแคลนทุนทรัพย์ และ ไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน นี่เป็นเพียงชั้น ป.6 และม.3 เท่านั้น ยังมีเยาวชนอีกมากที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษานี้ด้วยผลกระทบจาก โควิด-19
และว่า กสศ.ได้จัด “ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” โดยประสานงานกับ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สพฐ. เพื่อช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ ปีการศึกษา 2563 กสศ.ได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่อง ช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล–มัธยมศึกษาตอนต้น ในสังกัด สพฐ.อปท.และตชด.ทั่วประเทศ ซึ่งนักเรียนทุนเสมอภาคที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองระดับยากจนพิเศษ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมคนละ3,000 บาท/คน/ปี โดยในภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2563 กสศ.จะจัดสรรเงินให้นักเรียน2,000 บาทในช่วงเดือนกรฎาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนของผู้ปกครอง และช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19ได้อย่างทันเวลา โดยจะมีเด็กๆได้รับการช่วยเหลือมากกว่า7.5 แสน งบประมาณราว1,400 ล้านบาท โดยปีการศึกษา 2563เป็นปีแรกที่ เงินทุนเสมอภาคจะดูแลเด็กอนุบาลทั่วประเทศ และยังขยายการดูแลนักเรียนสังกัดอปท.จากเดิม10 จังหวัดเป็น76 จังหวัดด้วย
รองผู้จัดการกสศ.กล่าวว่า นอกจากนักเรียนกลุ่ม7.5 แสนคน ที่เคยผ่านการคัดกรองเรียบร้อย แล้ว ในช่วงเปิดเทอมนี้ กสศ.ยังเปิดโอกาสให้คุณครูสามารถคัดกรอง ความยากจนของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นี้และยังไม่เคยได้รับทุนเสมอภาคเข้ามาเพิ่มเติมได้ เพื่อน้องๆ จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ รวมถึงผู้ปกครองที่พบว่าตนเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนตกอยู่ในสถานะยากจนหรือยากจนพิเศษก็สามารถแจ้งไปที่คุณครูประจำชั้นเพื่อได้รับสิทธิได้การคัดกรองเพื่อให้บุตรหลายได้รับทุนเสมอภาคช่วยเหลือเพิ่มเติม ในช่วงเดือน ส.ค.63 เช่นกัน
ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า ไทยยังโชคดีที่สถานการณ์โควิด-19 ตรงกับช่วงปิดภาคเรียนพอดี ทำให้ไม่มีปัญหาการเรียนที่สะดุดเหมือนหลายประเทศ และสถานการณ์การศึกษาของไทยมีความเป็นไปได้ในสองลักษณะ คือการปิดภาคเรียนยาวนานทำให้ความรู้หายไป และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง อินเตอร์เนตของนักเรียนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความแตกต่างของโอกาสและคุณภาพของการศึกษา ส่งผลให้มีนักเรียนในกลุ่มการเรียนรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน สูงขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากทางภาครัฐและภาคองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ก็จะทำให้สถานการณ์ กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยไม่มีการสูญเสีย โดย กสศ.ได้เตรียมชุดความรู้สำหรับสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง เพื่อเตรียมรับมือ New Normal สำหรับเด็กประถมศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถ Download ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://research.eef.or.th
ขณะที่ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของธนาคารโลกในสถานการณ์ปกติ พบว่าแต่ละปีมีเด็กยากจนกว่าร้อยละ 30 ต้องหลุดจากระบบการศึกษาอยู่แล้ว และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ไทยมองเห็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ชัดเจนขึ้น
“การเลื่อนเปิดเทอมอออกไป ทำให้เด็กเรียนช้าลง ระยะเวลาสั้นๆ ก็พอที่จะสอนชดเชยได้ ที่ห่วงคือหากโควิดระบาดครั้งที่ 2 ถ้าโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไปอีกครึ่งหรือหนึ่งปี จะทำให้เด็กยากจนที่จากเดิมเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์อยู่แล้ว 1 ปี ต้องเข้าเรียนล่าช้าเพิ่มไปอีก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กยากจนต่ำลง สอดคล้องกับผลการสอบ PISA ปี 2020 ที่พบว่าเด็กมีผลการสอบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 60 ดังนั้นหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทัน ผมคาดว่าปี 2021 ผลการสอบ PISA ของเด็กยากจนจะยิ่งต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้นไปอีก” ดร.ดิลกะ กล่าว.-สำนักข่าวไทย