สำนักข่าวไทย 20 มิ.ย.-ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จุฬาฯ เผยผลฉีดวัคซีนโควิด19 ทดลองในลิงได้ผล เป็นที่น่าพอใจ ในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.นี้จะฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 2 ถ้าผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เราจะทำการเลือกวัคซีนและส่งไปผลิตยังโรงงานผลิตที่ประสานเอาไว้ ประมาณ 10,000 โดสก่อน
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ได้ทดลองฉีดให้กับลิงทดลองไปแล้วครั้งแรกวันที่ 23 พ.ค. จำนวน 13 ตัว ในปริมาณโดสที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 ตัว อีก 3 ตัวจะให้วัคซีนเปรียบเทียบ ผลตรวจเข็มที่ 1 ได้ผล เป็นที่น่าพอใจ เพราะลิง4 ใน 5 ตัวมีภูมิคุ้มกันขึ้นสูง สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ และในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.นี้จะฉีดในลิงเป็นการกระตุ้นภูมิเข็มที่ 2 ถ้าผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เราจะทำการเลือกวัคซีนและส่งไปผลิตยังโรงงานผลิตที่ประสานเอาไว้ ประมาณ 10,000 โดสก่อน เพราะหากรอช้าอาจจะไม่ทันการ ประเทศอื่นที่มีงบมาก
ซึ่งการจองโรงงานการผลิตต้องเป็น 2 โรงงานเพราะวัคซีนมี 2ส่วนประกอบสำคัญคือ
1 โรงงานผลิตตัว mRNAวัคซีน ที่อเมริกา
2 โรงงานที่แวนคูเว่อร์ เพื่อผลิต Lipid nano particle หรือผลิตตัวนำวัคซีนเข้าเซลล์ เป็นไขมันอนุภาคเล็ก เพื่อให้สามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ภายในเดือนตุลาคม ส่วนการผลิตในไทยมีโรงงานเตรียมพร้อม รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รอผลิตตามอยู่แล้วเป็นจำนวน ล้านโดส
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับการทดสอบในมนุษย์คาดว่าอีก 3-6 เดือนจะเริ่มทดสอบได้ หรือประมาณเดือนต.ค.นี้ และว่าข้อมูลที่ นายอนุทิน รมว.สธ. บอกจะฉีดวัคซีนเป็นคนแรกนั้น คาดว่าน่าจะยังไม่ได้รับการถ่ายทอดที่ชัดเจน ในความเป็นจริงแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีขั้นตอน การรับสมัครอาสาสมัครทดลองวัคซีนในคนเลย ซึ่งหลังจากมีข่าวนี้ก็มีคนโทรศัพท์มาขอเป็นอาสาสมัครกับเยอะมาก จึงขอย้ำว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการประกาศ รับสมัครแต่อย่างได
ซึ่งขั้นตอนคือ ถ้าผลภูมิคุ้มกันในลิงดี ต้องมีการหารือกับคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการผลิตวัคซีนว่า เชื่อถือได้และปลอดภัย รวมทั้งดูมาตรฐานการผลิตของโรงงานที่เราสั่งจองไว้ที่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันต้องเขียนโครงการทดลองในคนให้ชัดเจนว่า 100 คนแรกกำหนด โดสต่ำ กลาง สูงอย่างไร และต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาข้อมูลวิทยาศาสตร์ และการออกแบบการทดลอง รวมทั้งการดูแลอาสาสมัครด้วย
“ผมสนใจการออกแบบโครงการที่เยอรมัน ที่เลือกกลุ่มอาสาสมัคร มีผู้สูงอายุด้วยเพราะโควิด ระบาดแรงในผู้สูงอายุ โครงการที่เยอรมัน แบ่งอาสาสมัครเป็น2กลุ่มกลุ่มอายุ 18 ถึง 50 ปี และ 50 – 80 ปี และในกลุ่มอาสาสมัครต้องมั่นใจว่า ไม่มีการกินยาที่ส่งกระทบและมีโรคร้ายแรง”ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ศ.นพ.เกียรติ มองถึงปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนในไทยว่า ต้องมีพันธมิตรที่เข้มแข็งทางวิชาการ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ
ตัวอย่างที่ผิดพลาดในอดีตคือเมื่อปี 2009 ไทยได้จองโรงงานในต่างประเทศเพื่อผลิตวัคซีนไข้หวัดนกไว้ แต่ไม่สามารถผลิตได้ทันใช้ กับสถานการณ์การระบาด จึงมีข้อเตือนใจ3 ข้อว่า 1. เราต้องลงทุนซื้อ 2. จับมือกับเขา และ3.ต้องเร่งผลิตทันที
ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยังกล่าวว่าได้เตรียมแผน2 ไว้ หากในการกระตุ้นภูมิเข็ม 2ในลิงของไทยไม่ดี และของอเมริกายุโรปมีผลดีกว่าเรามาก เราจะขอซื้อจากอเมริกามาผลิตในไทยเลย เช่นเดียวกันกับพันธมิตรต่างประเทศก็บอกว่าถ้าของไทยดีก็จะเอาของไทยมาใช้เช่นกัน และไม่ต้องกลัวว่าจะมีการหวงวัคซีน เพราะทั่วโลกเข้าใจว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ต้องพร้อมผลิตร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย