รัฐสภา 18 มิ.ย.-ส.ส.พรรคก้าวไกล ดันร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้ไม่ยอมยกเลิก รัฐบาลต้องการใช้ป้องกันตัวเอง-เอื้อเลือกตั้งท้องถิ่น มากกว่าโควิด โอดสภาฯ เหมือนเสือกระดาษ จี้เพิ่มอำนาจตรวจสอบ พ.ร.ก.
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลง ว่า ส.ส.พรรค 55 คนได้ร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. … ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังคงบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น เพราะมองว่าสามารถใช้กฎหมายปกติได้ และการใช้กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน แม้จะอ้างเรื่องการคุมโรค แต่วันนี้ไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว แสดงให้เห็นว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะประกาศใช้อีกต่อไป แต่จะเป็นการป้องกันไม่ให้วิจารณ์รัฐบาลมากกว่า จึงเห็นว่าถ้าอยากจะใช้กฎหมายลักษณะนี้ ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ
“การใช้กฎหมายนี้ไม่ได้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งมีประชาชนฝ่ายตรงข้ามไม่น้อยถูกดำเนินคดีจากกฎหมายดังกล่าว จึงอยากถามว่ามีไว้เพื่อปกป้องประชาชนจากโรค หรือปกป้องรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือคงไว้เพื่อใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยหรือไม่ และวันนี้สภาฯ ทำอะไรไม่ได้เลย เหมือนเป็นแค่เสือกระดาษ ที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจไม่สนว่าจะกระทบประชาชนอย่างไร ในเมื่อรัฐบาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พรรคก้าวไกลจึงต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง 4 ประการ ดังนี้ 1.ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยฝ่ายบริหารสามารถใช้บังคับได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศ รวมถึงในการขยายระยะเวลาแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน และหลังสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องทำรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย 2.ยกเลิกอำนาจในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวสาร เพื่อให้สื่อมีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร 3.ยกเลิกข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และยกเลิกข้อยกเว้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เพื่อให้การใช้อำนาจภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ และ 4.ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยภายใต้การประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง จะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และต้องควบคุมตัวภายในสถานีตำรวจที่ญาติ รวมถึงทนายความเข้าถึงได้
นายรังสิมนต์ กล่าวด้วยว่า พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ใช้อำนาจตต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และใช้อำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย.-สำนักข่าวไทย