พิษณุโลก 17 มิ.ย.-นักธรณีวิทยา เข้าตรวจสอบดินยุบตัวขนาดใหญ่กลางไร่ข้าวโพด ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก พบเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดจากน้ำฝนกัดกร่อนชั้นหินปูนใต้ดิน มีโอกาสเกิดได้อีก
สภาพหลุมขนาดใหญ่ ที่เกิดจากดินยุบตัวในไร่ข้าวโพดของนายสอน แสงแก้ว หมู่ 2 ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 6 หลุมที่เกิดจากดินยุบมีลักษณะเป็นวงกลม มีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร ลึก 3 เมตร จากวันแรกที่พบ จนถึงวันนี้ พบว่าหลุมดังกล่าวยุบตัวลึกลงไปอีกประมาณ 50 เซนติเมตร ทำให้ชาวบ้านกลัวว่า หลุมดังกล่าวอาจทรุดตัวลงเรื่อยๆ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อประมาณปี 2557 ใกล้เคียงกับโรงโม่ พื้นที่ ม.1 ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2558 บริเวณไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ม.1 เช่นกัน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่เกิดในไร่ข้าวโพด ม.2 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง 3 ครั้ง เกิดในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูฝน เพียงแต่ครั้งนี้ แตกต่างจากทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา คือไม่มีน้ำขังอยู่ภายในหลุมที่ยุบ ก้นหลุมเป็นดินลักษณะเหมือนผิวดินที่ทรุดตัวลงไปตามปกติ
วันนี้ นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก เดินทางเข้าตรวจสอบ บอกว่าหลุมยุบเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ดินยุบตัวลงเป็นหลุมลึก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 เมตร ถึงมากกว่า 20 เมตร ปกติจะเกิดในบริเวณที่ราบใกล้กับภูเขาที่เป็นหินปูน เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนได้ ประกอบกับภูเขาหินปูนมีรอยเลื่อนและรอยแตกมากมาย จะสังเกตได้ว่าภูเขาหินปูนมีหน้าผาชัน หน้าผาเป็นรอยเลื่อนและรอยแตกในหินปูน บริเวณใดที่รอยแตกของหินปูนตัดกัน จะเป็นบริเวณที่ทำให้เกิดโพรงได้ง่าย
ด้านนักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง บอกว่าชั้นหินใต้ดินเป็นหินปูน น้ำฝนสามารถกัดกร่อนได้ ประกอบในพื้นที่มีการสูบน้ำใต้ดินทำให้เกิดโพรงใต้ดิน และเมื่อผิวดินมีน้ำหนักมากขึ้นจากน้ำฝน จึงทำให้เพดานโพรงใต้ดินยุบตัวลงและเกิดเป็นหลุมยุบดังกล่าว เบื้องต้นจะรอดูอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อประเมิน หากไม่พบว่าหลุมยุบตัวลงเพิ่มขึ้น ก็จะให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านมุง เข้าดำเนินการถมดินดังกล่าว เพื่อป้องกันเหตุอันตรายแก่ประชาชนและสัตว์เลี้ยง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้น้ำใต้ดินอย่างสมดุลกับน้ำฝนที่เติมลงไปใต้ดิน.-สำนักข่าวไทย