กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – ผู้ถือหุ้น บมจ.ไทยออยล์ หวั่นผลโควิด-19 กระทบผลดำเนินงานอนาคต หลังไตรมาส 1/63 ขาดทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ด้านผู้บริหารแจงราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ ทำให้ผลดำเนินงานดีขึ้นประกอบกับหลังโครงการ CFP เสร็จปี 66 จะลดความเสี่ยงรายได้จากธุรกิจการกลั่นจะลดลง มุ่งปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ (TOP ) ชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นที่มีการสอบถามถึงคาดผลดำเนินงานปี 2563 หลังจากไตรมาส 1/2563 ขาดทุนสุทธิ 14,000 ล้านบาท ว่า คาดว่าผลดำเนินงานไตรมาสที่เหลือของปีนี้จะดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 1 นั้น การขาดทุนส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนสตอกน้ำมันถึง 10,777 ล้านบาท เป็นผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันและความต้องการใช้ที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากที่ ขณะนี้มีการคลายล็อกดาวน์ความต้องการใช้น้ำมันขยับดีขึ้นและราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นมาสูงกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ความเสี่ยงจากการขาดทุนสตอกคาดจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่บริษัทได้ปรับตัวทั้งชะลอโครงการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น บริหารจัดงานลดค่าใช้จ่ายดำเนินการ จัดหาราคาน้ำมันดิบที่ทำให้ต้นทุนต่ำสุด ลดกำลังกลั่นร้อยละ 15-20 โดยขณะนี้กลั่นประมาณร้อยละ 95 จากกำลังกลั่น 275,000 บาร์เรล/วัน รวมทั้งลดการผลิตน้ำมันเครื่องบินที่มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของกำลังกลั่น โดยเหลือเป็นผลิตน้ำมันเครื่องบินเหลือร้อยละ 7-10 และที่เหลือนำไปผลิตเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี น้ำมันดีเซลและเบนซิน
ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการลงทุนพลังงานสะอาด( CLEAN FUEL PROJECT ;CFP ) 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็เดินหน้าตามแผนขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 39 โครงการจะเสร็จสิ้นปี 2566 เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน ลดการผลิตน้ำมันเตาที่มีราคาต่ำ โดยคาดว่าปีดังกล่าวน้ำมันเครื่องบินจะมีความต้องการสูง โดยประเมินว่าหลังจากนี้ 2 ปี การบินจะกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2563 หยุดชะงักจากการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 ที่ตลาดประเมินเช่นนี้ เพราะมีการดำเนินการพัฒนาวัคซีนและร่วมมือกันป้องกันโรคในรูปแบบที่หลากหลาย
ขณะเดียวกันไทยออยล์ยังวางแผนจะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยโครงการ Beyond CFP โดยนำแนฟทาจากโรงกลั่นฯ ไปผลิตเป็นปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์ อะโรเมติกส์ ทำให้สัดส่วนรายได้ในอนาคตจะมาจากปิโตรเคมีร้อยละ 40 ธุรกิจไฟฟ้าร้อยละ 15 ธุรกิจใหม่ด้านนวัตกรรมร้อยละ 5 และลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการกลั่นที่ผันผวนหนักจากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 60-70 เหลือร้อยละ 40
นายวิรัตน์ กล่าวด้วยว่า บริษัทวางเป้าหมายการใช้เงินสำหรับแผนการลงทุนและแผนการชำระคืนเงินกู้ในช่วง 5 ปี (ปี 63-67) รวม 4,695 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น เงินลงทุน 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐ และชำระคืนเงินกู้ 1,209 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะมาจากเงินสดดำเนินงานประมาณ 2,634 ล้านเหรียญสหรัฐ และการออกหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ในวันนี้ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะออกภายในปี 2568 โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะถูกใช้ในโครงการ CFP ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ. – สำนักข่าวไทย