ทำเนียบฯ 8 มิ.ย.-นายกรัฐมนตรี พร้อมขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) อย่างเป็นรูปธรรม แนะให้กำหนดเป็นโครงการนำร่อง อาจเริ่มปีงบประมาณ 64
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมหารือกับ 8 ผู้ประกอบการ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม เอกชน นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ และภาคสังคม โดยหารือถึงแนวทางการใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG (BCG: Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) ที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความร่วมมือรัฐ เอกชน นักวิชาการและเครือข่ายประชาชน ร่วมหารือการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ยุคหลังจากโควิด-19 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จึงต้องเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสของประเทศ เน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคงทั้งด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และประชาชนมีงานทำ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผู้แทนจากกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมยาและวัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ และกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอแนวทางการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจ BCG
นายกลินท์ สารสิน ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำเสนอการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในฐานะ”Happy Destination” เน้นความสะอาด สะดวก และปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้ง Medical and Wellness Tourism นายเทวินทร์ วงศ์วานิช กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมี ชีวภาพ นำเสนอการใช้ประโยชน์จากพืช เช่นอ้อย เป็นพืชพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวถึงศักยภาพด้านการแพทย์ รวมทั้งการคิดค้นวิจัยยาและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้ายาที่มีมูลค่าสูงในแต่ละปีพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย และผู้แทนกลุ่มเกษตรยังสนับสนุนให้มีอาสาเกษตร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ดูแลเกษตรกรในชุมชน เช่นเดียวกับ อสม. ที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19
นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงวิธีคิดที่ตรงกับสิ่งที่ได้เคยพูดไว้ในหลายปีที่ผ่านมาที่สำคัญ คือ การนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร หรือ How to จึงอยากให้พิจารณาจัดลำดับโครงการนำร่อง ในรูปแบบ sandbox จากอุตสาหกรรมกลุ่มต่าง ๆ ที่นำเสนอในวันนี้ จัดลำดับก่อนหลังในช่วง 5 ปี เพราะต้องเตรียมการทั้ง คน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ ข้อมูล กำหนดพื้นที่เป้าหมาย โดยอาจมีแผนกิจกรรมสำหรับปีงบประมาณ 2564 เน้นหลักการให้คนไทยเข้ามาทำงาน ในกลุ่มนี้ ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณส่วนหนึ่ง คือ งบบูรณาการ ในโครงการเฉพาะเรื่อง ที่ร่วมดำเนินการจากหลายกระทรวง อาทิ การบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังอยากเห็นแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเกษตรหลักของเกษตรไทยทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เอธานอล แทนการนำงบประมาณไปชดเชยให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปลดล็อกกฎระเบียบ รวมทั้งอาจให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนงานต่อไป เป็นการส่งต่อประเทศไทยเข้มแข็งให้กับคนรุ่นต่อไป.-สำนักข่าวไทย