กทม. 8 มิ.ย. – ผลสำรวจมาตรการป้องกันตัวจากโควิด-19 ของประชาชนปลายเดือน พ.ค.พบว่าทำได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากเดิมที่เริ่มการ์ดตกในช่วงก่อนหน้านี้ ชี้เหตุผลที่คลายความระมัดระวังลงเพราะส่วนใหญ่คิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้นแล้ว
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 25,623 ราย พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมป้องกันตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งการ์ดตก
โดยการใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา สามารถปฏิบัติได้ 91.5% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (15-21 พ.ค. 2563) ซึ่งอยู่ที่ 87.2% การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ปฏิบัติได้ 83.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 79.8%
ขณะที่กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตนเอง สัปดาห์ก่อนหน้าปฏิบัติได้ 79.7% แต่สัปดาห์ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 82.7% การระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร เพิ่มขึ้นจาก 58.7% เป็น 65.2% การระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก เพิ่มขึ้นจาก 53.7% เป็น 56.9% ทำให้พฤติกรรมป้องกันตนเองในภาพรวมของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 70.6% เป็น 74.8%
สำหรับสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ประชาชนคลายพฤติกรรมการป้องกันตัวเองลงนั้น กว่า 57.4% ตอบว่าเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น อีก 36.6% ตอบว่ารู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ และอีก 28.4% ให้เหตุผลว่ากิจวัตรประจำวันไม่เอื้ออำนวย
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม 66.0% ไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา และ 55.3%ไม่สามารถเลือกทำงานที่บ้านได้ ต้องออกไปทำงานตามปกติ และอีก 29.6% ที่ทำงานจากบ้านได้เป็นบางวันหรือบางสัปดาห์ โดยมีเพียง 15.1% เท่านั้นที่สามารถทำงานจากที่บ้านทุกวัน ขณะที่ภาพรวมการเดินทางออกนอกจังหวัดมีแนวโน้มลดลงจาก 28.5% ในช่วงวันที่ 15-21พ.ค.เป็น 23.6% ในช่วงวันที่ 22-28 พ.ค. โดยสาเหตุหลักที่ต้องออกนอกจังหวัดคือไปทำงาน 48.6% และอีก 27.7% มีธุระจำเป็น
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม 30.8% มองว่าควรให้เดินทางออกนอกจังหวัดได้อย่างอิสระ ยกเว้นจังหวัด/พื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อสูง อีก 27.7% อยากให้เดินทางได้อย่างอิสระโดยมีการลงทะเบียนติดตามตัว ส่วนอีก 19.8% มองว่าควรเดินทางได้อย่างอิสระ ยกเว้นจังหวัด/พื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อสูง โดยมีการลงทะเบียนติดตามตัว และมีอีก 16.5% ที่ยังอยากให้งด/ชะลอการเดินทางระหว่างจังหวัด
ในส่วนของการเดินทางเข้าประเทศนั้น กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม 60.3% มองว่าสำหรับคนไทยควรให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่คัดกรองและกักกัน 14 วัน ใน state quarantine โดยมีอีก 28.4% ที่มองว่าไม่ควรอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ อีก 10.6% คิดว่าให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่คัดกรองและกักกัน 14 วัน ที่บ้าน/ที่พักอาศัย ขณะที่ในส่วนของชาวต่างชาตินั้น 63.3% มองว่าไม่ควรอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย และอีก 30.9% มองว่าให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่คัดกรองและกักกัน 14 วัน ใน state quarantine
ขณะเดียวกันในส่วนการเปิดกิจการ/กิจกรรมที่จำเป็น เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน มหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือควรให้ทำได้มากขึ้น 31.9% ควรให้ทำได้เท่าปัจจุบัน (22-28 พ.ค.) 34.9% และควรกลับไปทำเหมือนเดือน เม.ย. 33.1% แต่ในส่วนของกิจการ/กิจกรรมอื่นๆ เช่น โรงภาพยนตร์ นวดแผนโบราณ งานสังคม ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าควรกลับไปทำเหมือนเดือน เม.ย. มากที่สุด 40.2% รองลงมาคือ ควรให้ทำได้เท่าปัจจุบัน (22-28 พ.ค.) 35.8% และควรให้ทำได้มากขึ้นอีก 24.0%
ติดตามผลการสำรวจฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ.com .-สำนักข่าวไทย