อย.7 มิ.ย.-อย.เตรียมขยายผลตรวจสอบ หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผล ทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล เผยมีการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์และร่วมกับตำรวจทลายแหล่งผลิตภัณฑ์เถื่อนไปแล้วหลายแห่ง ขอให้ผู้ผลิตเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่เชื่อถือได้และตรวจสอบก่อนนำไปใช้ว่าไม่ใช่เมทานอล
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยผลทดสอบปริมาณเเอลกอฮอล์ของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล จำนวน 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70 % โดยปริมาตร จำนวน 25 รายการ และมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเมทานอล จำนวน 1 รายการนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณทางมูลนิธิที่ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง และ อย.จะนำไปขยายผลเพื่อตรวจสอบต่อไป
ในเบื้องต้นผลการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์เจลที่พบปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ70 โดยปริมาตรไม่มาก อาจมีความเป็นไปได้ว่าแอลกอฮอล์มีการระเหยไประหว่างรอจำหน่าย ซึ่ง อย.จะได้แนะนําผู้ประกอบการในเรื่องกระบวนการผลิตและภาชนะบรรจุเพื่อป้องกันการระเหยแอลกอฮอล์ต่อไป อย่างไรก็ตาม อย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่ายพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาทั้งหมดเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ซ้ำอีกครั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และอายัดเครื่องสําอางที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย กระจายถึงมือผู้บริโภค
ทั้งนี้ อย.ขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าที่ผ่านมา อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในช่วงภาวะโควิด-19 กำลังระบาด อย.ได้เร่งดำเนินการทั้งการพิจารณาอนุญาตและตรวจสอบเฝ้าระวังการจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคมีแอลกอฮอล์เจล ที่มีคุณภาพ เข้าถึงง่าย เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งสถิติการรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์ ณ วันที่ 31 พ.ค.63 มีจำนวนใบรับจดแจ้ง 12,269 รายการ จากผู้ประกอบการ 2,038 ราย (ผู้ผลิต 1,870 ราย/ผู้นำเข้า 168 ราย) รวมทั้งได้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่ายโดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ตรวจจับโฆษณา ประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปแล้วหลายราย ที่สำคัญ อย. ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทลายแหล่งผลิตแอลกอฮอล์เจลที่มีปัญหาตามที่ได้มีข่าวเป็นระยะ ๆ
รองเลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า สำหรับแอลกอฮอล์เจลมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดเมทานอล จัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแอลกอฮอล์เจลมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดเอทานอล หรือไอโซโพรพานอล หรือเอ็น-โพรพานอล ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70 % โดยปริมาตร จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น ผู้ผลิตควรเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีเอกสาร Certificate of Analysis (COA) ที่ระบุชนิดและความเข้มข้นแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน ที่สำคัญผู้ผลิตควรต้องสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปส่งตรวจวิเคราะห์หน่วยตรวจวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้บริโภคสามารถนำเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง ตรวจสอบในเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application ถ้าระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภททำความสะอาดผิวกายรูปแบบใช้แล้วไม่ล้างออก หรือแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และมีสถานะ “อนุมัติ” แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย