กรุงเทพฯ 5 มิ.ย.63 – EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีไทยปี 63 ติดลบมากขึ้น เป็นลบ 7.3% โดยมองจีดีพีไทยไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐไทยในปีนี้ โดยคาด -12% และจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวแบบตัว U ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนจะกลับมาเป็นบวกได้ 4-5% ในอีก 2 ปี ขณะที่จีดีพีโลกปีนี้คาดติดลบ 4% ซึ่งเป็นการติดลบหนักสุดในรอบ 90 ปี
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า EIC ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ติดลบมากขึ้น จากเดิมติดลบ 5.6% เป็น ติดลบ 7.3% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปีนี้คาดว่าจะติดลบ 75% หรือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 9.8 ล้านคน จากปีก่อนที่ 40 ล้านคน และส่งออกติดลบ 10.4% ขณะที่ไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย หรือติดลบถึง 12% จากการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด ทั้งนี้หลังคลายล็อคดาวน์จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวแบบช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเป็นการฟื้นตัวแบบ U –Shape ตามอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่ยังมีความเปราะบางจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 4-5% หรือในระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงปี 2565
พร้อมคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตลอดทั้งปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ และความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ จะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจโลก EIC ปรับลดประมาณการณ์ลงจากเดิมจากติดลบ 3% เป็นติดลบ 4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 90 ปี และจะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว U เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง ทำให้การบริโภคและการลงทุนไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว
สำหรับความเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ โอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ,สงครามการค้าโลก ที่อาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และยุโรป , ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมาก อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ และความเสี่ยงในประเทศด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย