กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรฯ เป็นประธานชี้แจงแนวทางฟื้นฟูกิจการ และการปฎิบัติของเจ้าหนี้การบินไทย กับกลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ย้ำให้ 85 สหกรณ์ มูลหนี้ 43,000 ล้านบาท จับมือกันเหนียวแน่น พูดไปในทางเดียวกัน แง้มลุยสอบบัญชี 7 สหกรณ์ใหญ่ ป้องปัญหาทุจริต รายงานนายกฯ
ในช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ 85 แห่ง เข้าร่วมและมีการวีดีโอคอนฟอเรนซ์ให้สมาชิกสหกรณ์แต่ละจังหวัดได้รับฟังการประชุมด้วย โดยได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านคดีล้มละลายจากกรมบังคับคดีมาบรรยายให้สมาชิกทราบ เพื่อเตรียมการข้อกฎหมายกรณี บมจ.การบินไทย ได้เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายกลาง
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ต้องการทำความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์ทั้ง 85 แห่งที่เป็นเจ้าหนี้การบินไทย วงเงิน 43,000 ล้านบาท โดยย้ำขอให้กลุ่มสหกรณ์เจ้าหนี้มีการทำงานร่วมกันและพูดไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การติดตามปัญหากาบินไทยไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์เจ้าหนี้สหกรณ์ร่วมกัน รวมทั้งขอให้ติดตามความคืบหน้าการดำนเคดีทีเข้าสู่ศาลล้มลายกลางอย่างใกล้ชิด
ส่วนคำถามว่าในอนาคตหากมีการขอแฮร์คัดหรือลดหนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์จะได้รับผลกระทบและมีแนวทางรองรับปัญหาอย่างไร รมช.เกษตรฯ ระบุว่าการขอลดหนี้หากทำเฉพาะดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากัน ส่วนเงินต้นยืนยันว่าหนี้ก็คือหนี้และต้องดำเนินการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าหนี้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังเตรียมแนวทางที่จะเข้าตรวจสอบบริหารจัดการการเงินและบัญชีของสหกรณ์ทั่วประเทศตามนายกรัฐมนตรีสั่งว่าให้เข้าไปตรรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายให้กับสมาชิกผู้ลงทุนในสหกรณ์ นางสาวมนัญญาระบุว่าได้ลงนามในคำสั่งให้ดำเนินการไปแล้ว โดยจะนำร่อง 7 สหกรณ์ขนาดใหญ่
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ทั่วประเทศนั้น ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่งตั้งซูเปอร์บอร์ดที่มีประธานระดับรองอธิบดี โดยจะเริ่มงานทันทีในการตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีประมาณ 150 แห่ง ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์มีทั้งหมดทั่วประเทศ 8,000 แห่ง หากพบความผิดปกติสุ่มเสี่ยงเกิดความเสียหาย กรมฯ ในฐานะนายทะเบียนจะมีการแจ้งคณะกรรมการสหกรณ์ดำเนินการแก้ไข หากไม่ดำเนินการกรมฯ ก็จะเข้าไปดำเนินการเอง .-สำนักข่าวไทย