กรุงเทพฯ 1 มิ.ย. – BEM โอดพิษ! โควิด-19 ยอดผู้ใช้ทางด่วน-MRT หายเกิน 50% คาดปีนี้กำไรหดเหลือ 2 พันล้าน เชื่อ Q4/63 ฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง-เขียว ดันผู้โดยสารแห่ใช้สายสีน้ำเงินแน่น
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อการให้บริการทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จะทำงานจากบ้าน (Work from Home) ส่งผลให้การเดินทางลดลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน 2563 ได้รับผลกระทบหนักสุด กล่าวคือ ในส่วนของทางด่วนมีรถใช้บริการ 500,000-600,000 เที่ยว/วัน จากเดิมในช่วงปกติประมาณ 1.1 ล้านเที่ยว/วัน หรือลดลงประมาณ 50% ขณะที่รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารไม่ถึง 100,000 เที่ยวคน/วัน จากช่วงปกติ 450,000-460,000 คน/วัน ลดลงประมาณ 70%
ทั้งนี้ จากการผ่อนปรนมาตรการระยะต่าง ๆ ของช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2563 สถานการณ์การให้บริการกลับมาดีขึ้น โดยมีผู้ใช้ทางด่วนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านเที่ยว/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมียอดผู้โดยสารเฉลี่ย 180,000 คน/วัน ขณะที่มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงนั้น BEM จึงเพิ่มความถี่ของการให้บริการรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับช่วงสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเดินทางจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติไตรมาส 3/2563
ส่วนผลดำเนินการปี 2563 นั้น พบว่าไตรมาสแรก BEM ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยังมีกำไรประมาณ 500 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เชื่อว่าจะมีผลดำเนินการติดลบและจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งไตรมาส 3 และ 4 อย่างแน่นอน ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 2563 BEM จะมีรายได้ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 15% ที่มีรายได้อยู่ที่ 16,000 ล้านบาท จากเดิมในช่วงต้นปีคาดการณ์ว่าจะโต 6-7% จากปีที่แล้ว นอกจากนี้ คาดว่าปีนี้จะมีกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีกำไรประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้โดยสาร คาดว่าจะลดลงประมาณ 50%
นายสมบัติ กล่าวต่ออีกว่า ปี 2564 เชื่อว่าผลดำเนินการของ BEM จะเติบโตประมาณ 20% เมื่อเทียบจากฐานของปี 2563 จากปกติจะเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5-10% และคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากกว่า 450,000 คน/วัน เนื่องจากจะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ อาทิ สายสีชมพู สายสีเหลือง รวมถึงสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้มีผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นไปตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน โดยทุก ๆ 2 ปี นั้น BEM ได้นำเสนอเรื่องไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว โดยจะมีการปรับค่าโดยสารขึ้น 1 บาทบางสถานี แต่โครงสร้างค่าโดยสารรวมยังคงอัตราเดิม คือ เริ่มต้น 16 บาท และสูงสุด 42 บาท อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดทำโปรโมชั่น เพื่อคงอัตราค่าโดยสารเท่าเดิมไว้
นายสมบัติ กล่าวอีกว่า BEM ได้ยืนยันถึงความพร้อมในการให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยตระหนักถึงสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและพนังงานเป็นลำดับแรก จึงยังคงมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อแทนความขอบคุณ ห่วงใย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT นั้น BEM จึงได้แจกหน้ากากผ้า 1 ล้านชิ้นฟรี ให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ส่งเสริมการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมาใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและส่วนรวม โดยเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-สิงหาคม 2563 โดยผู้โดยสารสามารถรับได้ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงทั้ง 53 สถานี นอกจากนี้ เตรียมแบ่งปันอีกส่วนหนึ่งให้กับชุมชนกว่า 21 ชุมชน และสถานศึกษารายรอบเส้นทางรถไฟฟ้าและทางด่วนกว่า 60 แห่ง สำนักงานเขต กทม.16 เขต เทศบาลนนทบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้ การแจกหน้ากากผ้าให้กับผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ในช่วงเดือนมิถุนายน.-สิงหาคม 2563 จะแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะสลับช่วงเวลากันและวนไปจนครบทั้ง 53 สถานี เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับหน้ากากอย่างทั่วถึงมากที่สุด ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องลงทะเบียนเพียงแต่ขอความร่วมมือรับหน้ากากผ้า 1 คน/ 1 ชิ้น ตลอดรายการ โดยสามารถติดตามรายละเอียดกำหนดการแจกหน้ากากผ้าได้จากช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของบริษัท และพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่เติมเงินบัตรโดยสารตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป รับฟรีหน้ากากผ้า 1 ชิ้น ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไปจนกว่าของจะหมด
“BEM พร้อมสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดซ้ำ และขอให้ผู้โดยสารรถไฟฟาปฏิบัติตนด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการ พร้อมทั้งเว้นระยะห่งทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจลที่มีให้บริการทั่วถึงทุกพื้นที่ในสถานี เพียงเท่านี้ก็เป็นการดูแลสุขภาพของตนเองและบุคคลรอบข้างให้ห่างไกลจากโรค” นายสมบัติ กล่าว.-สำนักข่าวไทย