ส.ส.ฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกต เงินช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงยาก

รัฐสภา 30 พ.ค.-  ถก พ.ร.ก.กู้เงิน วันที่ 4  ส.ส.ฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกต เงินช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงยาก ย้ำ ให้ระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ระบุ ไม่สามารถกู้เงินมากไปกว่านี้ได้แล้ว  ขอให้รับข้อสังเกตของฝ่ายค้านไปพิจารณา      


การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน วันนี้ (30 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 4  มีนายศุภชัย  โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2  ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยตลอดการพิจารณา 3 วันที่ผ่านมา  คณะรัฐมนตรีใช้เวลาไปแล้ว 4 ชั่วโมง 45 นาที   ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลาไปแล้ว 8 ชั่วโมง 35 นาที  ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลเหลือเวลาอภิปราย อีก 10 ชั่วโมง 38 นาที  ขณะที่ ฝ่ายค้าน ใช้เวลาไป 14 ชั่วโมง 23 นาที  เหลือเวลาการอภิปราย 9 ชั่วโมง 36 นาที 


นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย  เริ่มอภิปรายเป็นคนแรก ว่า  ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 80% เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบธนาคาร  จึงเกรงว่าผู้ประกอบการรายย่อยจะเข้าไม่ถึงมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท  หากนายกรัฐมนตรีอยากจะคืนความสุข ก็ขอให้ #ลอถลมตรคล ซึ่งแปลว่า “ลาออกเถอะลุง ไม่ต้องรอคนไล่”

ขณะที่ นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายชื่นชมนายกรัฐมนตรี และ ศบค.มีความสามารถควบคุมโควิด-19 จนผู้นำทั่วโลกชื่นชมประเทศไทย  พ.ร.ก.ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ คือ พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท จะเป็นผลดีกับประชาชนอีก 16 ล้านคน เป็นเหตุให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่อาจจะมีเหตุให้ประชาชนขัดข้องบ้าง ล่าช้าบ้าง เป็นเรื่องปกติของระบบ ที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนในเรื่องการได้รับการเยียวยาของรัฐบาล  


ด้าน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายถึง  พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ซื้อหุ้นกู้เอกชน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้หุ้นกู้เอกชนทั้งระบบมีทั้งหมด 3.6 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามีงบประมาณเข้าไปรองรับร้อยละ 11 ของหุ้นกู้ทั้งหมด จึงต้องพิจารณาว่าหุ้นกู้ที่จะเข้าไปรับรองรับ มีคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหน

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า โดยปกติการปล่อยหุ้นกู้จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีเพียงหนังสือการยืนยันปล่อยซื้อหุ้นกู้ และการกำหนดเรตติ้งหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน แต่มาตรา 11 ของพระราชกำหนดให้มีหลักประกันแก่ผู้ถือตราสารหนี้ ตราสารหนี้ที่กองทุนซื้อ จะต้องได้รับหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ผู้ออกตราสารหนี้ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่นในคราวเดียวกัน  

นายมงคลกกิตติ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเอกชนขายหุ้นกู้ เพื่อไปใช้หนี้เดิม ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อาทิ เครือ CP ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ขายหุ้นกู้ไป 440,562 ล้านบาท เครือ TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขายหุ้นกู้ไป 329,662 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ราย ถือเป็นหุ้นกู้กว่าร้อยละ 20 ของทั้งหมด ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีแค่เรตติ้งเท่านั้น เช่นเดียวกับ บริษัท การบินไทย มีหุ้นกู้หมื่นล้าน ระดับ A+ แต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน , ปูนซิเมนต์ไทยมีหุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน , บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มี หุ้นกู้ 14,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้หมดอายุ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 

“จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับการซื้อหุ้นกู้ของเอกชน ออกเงื่อนไขให้มีหลักเกณฑ์ในการค้ำประกันร้อยละ 30-50 เพื่อกันพลาด ไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย และฝากให้รัฐบาลควบคุมติดตามการดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าการซื้อหุ้นกู้จะพลาดไม่ได้ หากพลาดติดคุก” นายมงคลกิตติ์ กล่าว พร้อมเปรียบเทียบปี 2541 ถึง 2542 มีการขายทรัพย์สินขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ต่ำกว่าราคา จาก 810,000 ล้านบาท ต้องขายไปในราคา 190,000 ล้านบาท ขาดทุน 62,000 ล้านบาททันที  อย่าลืมว่าหนี้เป็นของแผ่นดิน ซึ่งหนี้ของปี 2540 ยังมีค้างอยู่ 748,000 ล้านบาท  

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่เพิ่งมีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยไปถึงท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้รีบเสนอโครงการที่จะใช้จ่ายเข้ามา โดยหนังสือออกวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และให้ส่งแผนงานหรือโครงการภายในวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งเร่งรีบ ขาดความละเอียดรอบคอบ และระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน และตั้งคำถามถึงงบประมาณว่า จะเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายหนักทั้งประเทศได้หรือไม่

นายยุทธพงศ์ อภิปรายถึง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบ วงเงินรวมไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งกำหนดเงื่อนไข SMEs วงเงินสินเชื่อต้องไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่โรงแรมที่ลงทุนในปัจจุบันมูลค่าเกิน 500 ล้านบาท ทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขได้รับการช่วยเหลือ และเงินที่จะช่วยเหลือ SMEs ก็เป็นการให้กู้เพิ่ม และต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้เดิม แทนที่จะให้เงินไปเพื่อลดต้นและดอกเบี้ย แต่กลับเอาหนี้ไปให้กู้เพิ่ม จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทบทวน

นายยุทธพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการเก็บดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บจากผู้เป็นระยะเวลา 6 เดือน จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องการเอาเงินไปปล่อยต่อ เพราะดอกเบี้ยต่ำ ไม่คุ้ม การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องใช้เงินคืนให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ จะกลายเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ จะเอาเงินที่ไหนมาคืน หากผู้กู้ยังไม่ฟื้นตัวในระยะเวลา 2 ปี และกฎหมายยังมีลักษณะ 2 มาตรฐาน โดยกำหนดให้ไม่คิดอัตราค่าธรรมเนียมการกู้เงิน แต่ธนาคารออมสินสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ จึงต้องการให้ดูเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ให้ครอบคลุมมากขึ้น 

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ส่วน พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเอามาช่วยหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้   กองทุนที่จะลงทุนอายุไม่เกิน 270 วัน เป็นระยะเวลาที่เร็วมาก และผลตอบแทนหุ้นกู้ ดอกเบี้ยผลตอบแทนขั้นสูงที่ลงทุนหุ้นกู้ ซึ่งจัดหามาจากแหล่งอื่น บวกด้วยค่าธรรมเนียมการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนร้อยละ 1 ต่อปี สำหรับเงินส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของยอดตราสารหนี้ที่ครบกำหนด และร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับเงินส่วนที่เกินร้อยละ 30 ของยอดตราสารหนี้ที่ครบกำหนด ถือว่าดอกเบี้ยแพง  ขณะนี้มีหลายบริษัทมีปัญหาขอยืดเวลาครบกำหนดหุ้นกู้ออกไป ซึ่งไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน 400,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องไปกู้ธนาคารพาณิชย์มาจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกกว่า เช่นบริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทชาญอิสระ เป็นต้น

“เงินที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ก็มีปัญหา เงินที่จะช่วยหุ้นกู้ก็ไม่สามารถช่วยได้จริง เพราะมีค่าใช้จ่ายแพง  ขณะนี้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกของโลก จึงฝากไปถึงรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาสำเร็จลุล่วง ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะเงินกู้รอบนี้เป็นเงินกู้รอบสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถกู้มากกว่านี้ได้ จึงต้องทำให้เกิดประโยชน์ ข้อท้วงติงที่ได้อภิปรายไปก็ขอให้รัฐบาลนำไปเป็นข้อสังเกต เพราะสิ่งที่พูดไปเป็นความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง” นายยุทธพงศ์ กล่าว .- สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

หนุ่ม 31 ซิ่งเก๋งชนไรเดอร์ดับคาที่ หลังมีปากเสียงเรื่องขับเฉี่ยวชน

หนุ่มไทยเชื้อสายอินเดีย ลูกเจ้าของร้านขายผ้าซิ่งเก๋งชนไรเดอร์ดับ ริมถนนสุขุมวิท หลังมีปากเสียงเรื่องขับรถเฉี่ยวไม่ลงมาเจรจา

พ่อพาญาติเยี่ยมลูกชายลูกครึ่งอินเดีย ขับรถชนไรเดอร์ดับ

พ่อพาญาติเยี่ยมลูกชายลูกครึ่งอินเดีย ที่หัวร้อนขับรถชนไรเดอร์ดับคาที่กลางสุขุมวิท เมื่อวานนี้ พร้อมไหว้ขอสื่อ อย่ามายุ่งกับครอบครัว

จำคุกทนายเดชา

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” ปมไลฟ์หมิ่น “อ.อ๊อด”

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” คดีหมิ่น “อ.อ๊อด” ปรับ 1 แสนบาท ปมไลฟ์ด่าเสียหาย ให้รอลงอาญา โจทก์เตรียมอุทธรณ์ต่อ ขอให้ติดคุกจริง

ศาลให้ประกันหนุ่มลูกครึ่งอินเดียหัวร้อนขับรถไล่ชนไรเดอร์ดับ

ครอบครัวไรเดอร์ที่ถูกหนุ่มลูกครึ่งอินเดียหัวร้อนขับรถไล่ชนเสียชีวิต กอดกันร้องไห้รับร่างและรดน้ำศพ ด้านศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหา วงเงิน 600,000 บาท ติดกำไล EM-ห้ามออกนอกประเทศ

ข่าวแนะนำ

วันประวัติศาสตร์ สมรสเท่าเทียมวันแรก

วันนี้เป็นวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ ใน กทม. มีการจัดงานวันสมรสเท่าเทียมอย่างยิ่งใหญ่ เฉลิมฉลองให้กับเส้นทางการต่อสู้อันยาวนานกว่าที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าเพศใดก็จะได้รับสิทธิการสมรสอย่างเท่าเทียมกัน

นาทีประวัติศาสตร์! นายกฯ ร่วมพิธีลงนาม FTA ไทย-เอฟตา

นายกฯ ร่วมพิธีลงนาม FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกไทยกับยุโรป ความสำเร็จรัฐบาลแพทองธาร สร้างโอกาสยุคทองการค้า-ลงทุน ทำเงินเข้าประเทศ

ตำรวจ ปปป.ซ้อนแผนบุกจับนายช่างโยธา เรียกรับเงิน 4 แสน

ตำรวจ ปปป. บุกจับนายช่างโยธาปฏิบัติงาน ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพระโขนง เรียกรับเงินค่าออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 400,000 บาท

สมรสเท่าเทียม

นายกฯ ส่งคลิปสารร่วมยินดีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้

“แพทองธาร” นายกฯ ส่งคลิปสารร่วมแสดงความยินดีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ ขอบคุณทุกภาคส่วนผ่านการต่อสู้กับอคติกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้ ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยโอบรับความหลากหลาย และเท่าเทียม