กทม.29 พ.ค.- ปคม. สรุปคดีอุ้มบุญข้ามชาติ ออกหมายจับ 23 จับได้ 22 คน มีทั้งนายทุนชาวจีน นายหน้า และสูตินารีแพทย์ ร่วมแก๊ง
พลตำรวจตรีวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บังคับการ ปคม. พร้อมทีมงานรองผู้บังคับ, นายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายกมลสิทธิ์ วงศ์บุญน้อย ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง. แถลงสรุปปฏิบัติการทลายขบวนการรับจ้างตั้งครรภ์หรืออุ้มบุญข้ามชาติ ที่มีนายทุนชาวจีน เป็นผู้ว่าจ้างหญิงไทย ผ่านนายหน้าให้อุ้มบุญ มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกระทำความผิด โดยตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับรวม 23 คน จับได้แล้ว 22 คน หลบหนี 1คน
พลตำรวจตรีวรวัฒน์ ระบุว่า ปฏิบัติการนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลัง ปคม.ได้รับเบาะแสจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. นานกว่า 1 ปี ก่อนวางแผนเข้าตรวจค้นเป้าหมายพร้อมกัน 10 จุดทั่วประเทศ พบแม่รับจ้างอุ้มบุญ รวม 15 คน เด็กทารกอีก 2 คนที่เป็นผลมาจากการทำอุ้มบุญ
จากนั้นสอบสวนขยายผลโดยใช้เวลากว่า 3 เดือน ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 23 คน คือนายทุนจีนผู้ว่าจ้าง 5 คน สูตินรีแพทย์ 5 คน นักวิทยาศาสตร์ 1 คน นายหน้าจัดหาแม่อุ้มบุญและหญิงสาวขายไข่ รวมทั้งผู้ที่ให้การดูแลแม่อุ้มบุญ ในจำนวนนี้มีการจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 22 คน ส่วนอีก 1 คน เป็นนายทุนชาวจีน หลบหนีไปต่างประเทศ
พฤติการณ์คดีนี้เริ่มจาก พ่อแม่คนจีนที่มีปัญหาในการมีบุตรติดต่อนายหน้าคนจีนและนายหน้าคนไทยให้ติดต่อแพทย์เพื่อทำการตั้งครรภ์ ในกรณีที่แม่คนจีนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เอง จะมีนายหน้าคนไทยซึ่งเดิมอาจเป็นแม่อุ้มบุญ ผันตัวมาเป็นนายหน้า จัดหาหญิงสาวเพื่อติดต่อซื้อไข่ไปผสมกับอสุจิของพ่อชาวจีน จากนั้นจะเดินทางไปฝังตัวอ่อนยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจาก ไทยเพิ่งมีกฎหมายอุ้มบุญ เมื่อปี 2558
เมื่อแม่อุ้มบุญที่ตั้งครรภ์ติดแล้ว จะดำเนินการใน 3 ลักษณะคือคลอดลูกที่ประเทศไทยแล้วเป็นคนอุ้มไปส่งให้พ่อแม่คนจีนที่เมืองจีน หรือ เดินทางไปคลอดลูกที่จีน แล้วแปลงสัญชาติ เด็กเป็นพลเมืองจีน คดีนี้ตำรวจพบผู้เกี่ยวข้องในคดีถึง 500 คน ประมาณ 300 คนเป็นหญิงไทยที่รับจ้างอุ้มบุญและขายไข่ แต่ทั้งหมดถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ดำเนินคดีเฉพาะ 23 คนข้างต้น
ล่าสุด ปคม. สรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 ข้อหา คือสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ. อาชญากรรมข้ามชาติ , ร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และ ร่วมกันเสนอซื้อขายนำเข้าหรือส่งออกซึ่งอสุจิไข่หรือตัวอ่อน ตามพรบ.อุ้มบุญ โดยมีอัตราโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
โดยสรุปสำนวนให้อัยการพิจารณา 19 เมษายนที่ผ่านมา จากนั้นอัยการตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวน ซึ่งมีจำนวนกว่า 30 แฟ้มและสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดตามพนักงานสอบสวนเมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ด้านผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง.เปิดเผยว่า มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของขบวนการนี้พบมีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ล่าสุด อายัดรถยนต์ในเครือข่ายอุ้มบุญข้ามชาติกว่า 20 คัน ที่ดินในกรุงเทพฯ 4 แปลง รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
อธิบดี สบส.ระบุว่า สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับแพทย์และสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง กับการอุ้มบุญ คงต้องรอผลการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม สบส.ได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้องค์กรวิชาชีพแพทย์ ที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งจะมีบทลงโทษระบุชัดเจน ขั้นรุนแรงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตแพทย์ และเพิกถอนใบอนุญาตเปิดคลินิกหรือสถานประกอบการต่อไป.-สำนักข่าวไทย