สธ. 31 พ.ค. – สบส.ลงนามความร่วมมือ DSI กวาดล้างขบวนการรับจ้างอุ้มบุญข้ามชาติ เบื้องต้นรับคดีอุ้มบุญ 2 เคส เป็นคดีพิเศษแล้ว เตรียมจับกุมเร็วๆ นี้ พร้อมเผยช่วงโควิดมีหญิงตั้งครรภ์อุ้มบุญตกค้างในไทย 19 คน โดยตอนนี้เด็กอายุ 1-2 ขวบ อยู่ในความดูแลของ พม.
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงนามความร่วมมือกับ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เพื่อขับเคลื่อนคดีเกี่ยวกับการอุ้มบุญ สามารถป้องปราม ระงับยับยั้งเหตุที่อาจเกิดขึ้นไว้ได้ทัน เนื่องจากที่ผ่านมาคดีเกี่ยวกับอุ้มบุญ มีความเชื่อมโยงและเข้าข่ายคดีพิเศษ ด้วย 3 ลักษณะ คือ อาจมีการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, มีความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐาน และอาจต้องใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ และกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการดำเนินการคดีนี้ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการทำการอุ้มบุญ ตั้งแต่ฝังตัวอ่อน ฝากไข่ไว้ และในอนาคตเตรียมปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัย โดยไม่จำเป็นอีกต่อไปว่าพ่อแม่ที่ทำการอุ้มบุญหนึ่งในนั้นต้องเป็นชาวไทย อาจเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด เพื่อให้เรื่องนี้ถูกกฎหมายป้องกันการลักลอบ เพราะภาวะมีบุตรยาก จัดเป็นโรคอย่างหนึ่ง อีกทั้งแพทย์ไทยมีความเก่งและเชี่ยวชาญ ทำให้มีความสนใจในการทำอุ้มบุญมาก ส่วนในอนาคตจะมีการพิจารณาเรื่องการอุ้มบุญในสาวโสด หรือคนเพศเดียวกัน ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงขั้นนั้น
นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงโควิด กระบวนการลักลอบอุ้มบุญข้ามชาติทำให้มีเด็กตกค้างที่ไทยจำนวนมากถึง 19 คน อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเด็กเหล่านี้อายุประมาณ 1-2 ขวบแล้ว เนื่องจากแม่อุ้มบุญไม่สามารถเดินทางไปคลอดบุตรที่ต่างชาติได้ ทำให้ตกค้างในไทย ง่ายแก่การติดตาม และในเร็วๆ นี้ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ใน 2 คดีที่มีการอุ้มบุญ พบว่าเชื่อมโยงกับการอุ้มบุญต่างชาติ โซนเอเชีย โดยที่ผ่านมามีการสอบสวนมากกว่า 10 คดี
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้รวบรวมข้อมูลการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทย พบว่ามีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 45 มีการให้บริการเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และมีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้การตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ 584 คน สร้างรายได้กว่า 4,500 ล้านบาท พร้อมย้ำว่าในการลงนามความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษนี้ ครอบคลุมการดูแลที่เกิดขึ้น มีทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และกฎกระทรวงการบริการจัดการเด็ก เพื่อดูแลเด็กอุ้มบุญที่ถูกดำเนินคดี เบื้องต้นให้แม่รับตั้งครรภ์ดูแลไปก่อน แต่จะไม่มีการยุติการตั้งครรภ์ .-สำนักข่าวไทย