นนทบุรี 27 พ.ค. – กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่ม 4 รายการ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงปัญหาโควิด 19 กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชนที่เป็นแหล่งผลิต รวมทั้งเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้า และภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่า ให้สินค้าด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มขึ้นอีก 4 รายการ ได้แก่ มะขามเทศเพชรโนนไทย ส้มโอทองดีบ้านแท่น มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า และโอ่งมังกรราชบุรี ทำให้ปัจจุบันมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยไปแล้วทั้งสิ้น 124 รายการ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด เหลือเพียงจังหวัดอ่างทองที่คำขอกลองเอกราชอยู่ระหว่างกระบวนการขึ้นทะเบียน ซึ่งคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ภายในปีนี้ และจะส่งผลให้ประเทศไทยมีสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนครบ 77 จังหวัด
สำหรับสินค้า GI 4 รายการล่าสุด ที่ขึ้นทะเบียน GI มีดังนี้ 1.มะขามเทศเพชรโนนไทย ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ฝักใหญ่ เนื้อกรอบ สีขาวขุ่นปนชมพู รสชาติหวานมัน ปลูกในพื้นที่อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา โดยการขึ้นทะเบียน GI นี้ ทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 6 รายการ เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงราย
2.ส้มโอทองดีบ้านแท่น ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอบ้านแท่น ของจังหวัดชัยภูมิ เป็นส้มโอพันธุ์ทองดี เปลือกบาง เนื้อฉ่ำไม่แฉะ รสชาติกลมกล่อมหวานอมเปรี้ยวไม่ขมและซ่า
3.มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า ปลูกในพื้นที่อำเภอบางคล้า อำเภอคลองเขื่อน และอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีลักษณะผลเล็กยาวรี ผิวเปลือกมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อมะพร้าวมีสีขาวขุ่น น้ำมะพร้าวมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย รสชาติหวานเด่น
และ 4.โอ่งมังกรราชบุรี เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตจากดินเหนียวสีน้ำตาลแดงสลับจุดขาวหรือดินสีมันปูที่พบในเขตพื้นที่อำเภอเมืองราชบุรีและอำเภอเมืองโพธาราม จังหวัดราชบุรี ทั้งประเภทเคลือบและไม่เคลือบด้วยน้ำเคลือบขี้เถ้า มีการตกแต่งลวดลายเป็นลายมังกรหรือลายอื่นๆ ผลิตตามขั้นตอนดั้งเดิมแบบจีนที่ถ่ายทอดกันมาผนวกกับภูมิปัญญาของคนราชบุรี จึงทำให้โอ่งมังกรราชบุรี มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์ GI ในเชิงพาณิชย์ การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น เชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงาน GI Market การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งในลำดับถัดไปเราจะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอาศัยองค์ความรู้และการดำเนินงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยดูแลและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป.-สำนักข่าวไทย