กรุงเทพฯ 26 พ.ค.- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จับมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 3 ค่ายผู้ให้บริการสื่อสารเครือข่าย 5G ให้บริการเครือข่ายสื่อสารให้หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช สนับสนุนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน
นายจักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในรูปแบบของรถ มาจากความคิดริเริ่มของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561 ต่อมาปี 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาความก้าวหน้าทางสมรรถนะและเทคโนโลยี ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2 ปีที่เปิดบริการรักษาผู้ป่วยได้ 287 ราย ตอบโจทย์การแพทย์-ดิจิทัลเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค
ในปี 2563 นี้ จะเป็นรถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน เป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประสานกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และทีมวิศวกรและนวัตกรผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างรถ ระบบวิศวกรรมและระบบการสื่อสารภายในรถใช้วัสดุ-ซัพพลายในไทยและอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารในรถกับโครงข่ายสื่อสาร 5G ด้วยซิม
เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูง ผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ Mobile Stroke Unit จะช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบ 2 ทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย ที่เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ทำได้รวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมองแบบตัวต่อตัว ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูง จะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผน และการรักษาทำได้ทันทีและแม่นยำ ก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล
นายประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การสนับสนุนโดยผู้นำเครือข่าย 5G จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราชเป็นการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง ตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่เกิน 4 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากผู้พบผู้ป่วยโทรแจ้ง 1669 เข้าศูนย์เอราวัณ ทางศูนย์ฯ จะคัดกรอง แล้วแจ้งต่อไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในเขตที่ดูแลเพื่อให้เข้าไปรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจคัดกรองอาการและนำผู้ป่วยมาที่จุดนัดพบสถานีบริการน้ำมัน ขณะเดียวกันทางศูนย์เอราวัณก็แจ้งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราชให้ออกปฏิบัติการรับผู้ป่วย.-สำนักข่าวไทย