กรุงเทพฯ 25 พ.ค.-เพื่อไทย เตือนรัฐคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิวอาจมีปฏิกิริยาย้อนกลับ เชื่อหวังสกัดความเคลื่อนไหวทางการเมือง แนะสร้างสมดุล สุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารรราชชการในสถานการณณ์ฉุกเฉินและคงประกาศเคอร์ฟิว ของรัฐบาล ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการกระชับอำนาจ และใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ขณะที่ปัญหาโควิด-19 คลี่คลายได้สำเร็จจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชน แต่หากรัฐบาลยังยืดเคอร์ฟิวไปเรื่อย ๆ อาจเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับจนรัฐบาลรับมือไม่ได้ ขณะที่นักวิชการมองว่าวิกฤติโควิด-19 หนักกว่า รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง 10 เท่า และรัฐบาลต้อง3 ลูกมรสุมโควิด -19 มรสุมเยียวยาเศรษฐกิจและมรสุมวิกฤติการเมืองทั้งในและนอกพรรครัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างสมดุล ทั้งสุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นให้ได้
“ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเอาทุกปัญหาไปกลบไว้ใต้โควิด และหลบหลังโควิด แล้วอธิบายว่าแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจไม่ได้เพราะโควิด การแก้ปัญหาโควิด-19 หลายเรื่องไม่ควรทำ โรงเรียนเปิดไม่ได้ แต่ห้างเปิดได้ ทั้งที่ห้างจำนวนคนมากกว่า เข้า-ออก ต้องแสกนข้อมูลที่ประชาชนเกรงว่าจะถูกแฮ็กข้อมูล หรือความพยายามเข้าถึงข้อมูลประชาชนหรือไม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือการประกาศเคอร์ฟิว รัฐบาลต้องใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องสถานการณ์ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย” โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าว
ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดรัฐบาลยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ของใคร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมกังขา รัฐบาลต้องคืนความเป็นปกติ วิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจให้ประชาชนโดยเร็ว เพราะขัดกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองในพันธสัญญาที่ไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง
นายชุมสาย กล่าวถึงพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการทั้ง 11 คนมากมาย ว่า มีหลักประกันใดที่จะไม่เป็นการเลือกปฏิบัติว่าการใช้จ่ายเงินจะใช้กับกลุ่มใด ประชาชนเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างไร ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งการออก พ.ร.ก.กู้เงิน อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค 3 ที่บังคับให้ คณะรัฐมนตรี ต้องเรียกประชุมวิสามัญรัฐสภาเพื่อพิจารณา แต่กลับไม่ดำเนินการ
“2 พ.ร.ก. ทั้งพ.ร.ก. เงินกู้กับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เจตนาต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเลี้ยงสถานการณ์ เพื่อกล่อมคนให้กลัว ทั้งที่สถานการณ์เบาบางลงไปแล้ว หรือเพื่อป้องกันความเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่สำคัญ ต้องการบริหารเงินกู้ในช่วงวาระสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่ เป็นการอุ้มธุรกิจเจ้าสัวหรือตีเช็คเปล่าหรือไม่” รองโฆษกพรรรคเพื่อไทย กล่าว.-สำนักข่าวไทย