กรุงเทพฯ 23 พ.ค.- หลังนำวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ฉีดในหนูทดลอง แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ วันนี้ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มฉีดวัคซีนในลิง โดยกำหนดฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะนำวัคซีนไปฉีดทดลองในคน ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้
นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำวัคซีนชนิด mRNA มาฉีดในลิงเป็นเข็มแรก ผ่านบริเวณขาหนีบ หลังก่อนหน้านี้วัคซีนชนิดเดียวกันนี้ ถูกนำไปฉีดในหนูทดลอง แล้วพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า สัตว์ตระกูลไพรเมท หรือว่า ลิง เป็นสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกับคนมาก ทำให้ขั้นตอนการนำวัคซีนมาทำลองในลิง เป็นอีกขั้นตอนสำคัญของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่จะต้องนำมาใช้กับคน
ลิงที่นำมาใช้ทดลองคือ ลิงแสม เพศเมีย วัยเจริญพันธุ์ อายุ 4-6 ปี ทั้งหมด 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่มเพื่อทดลอง คือ กลุ่มโด๊สยาต่ำ 5 ตัว โด๊สยาสูง 5 ตัว และยาหลอก 3 ตัว เพื่อเปรียบเทียบผล การฉีดวัคซีนในลิงกำหนดไว้ 3 ครั้ง ระยะเวลาแต่ละครั้งจะห่างกัน 1 เดือน โดยครั้งที่ 2 จะฉีดอีกครั้งใน 4 สัปดาห์ข้างหน้า และครั้งที่ 3 นับต่อไปอีก 8 สัปดาห์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า แม้ก่อนหน้านี้จะทดลองวัคซีนในหนูไปแล้ว แต่เพราะลิงแสมมีการตอบสนองใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด จึงต้องทดสอบในลิงชนิดนี้ เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะนำไปทดลองในคน โดยการทดสอบจะพิจารณา 4 ข้อ คือ ความเป็นพิษ, ความปลอดภัย, การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
มีการคาดการณ์ว่า หากวัคซีนชนิด mRNA สร้างภูมิคุ้มกันได้จริง จะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อนำมาทดลองในคนได้ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยการทดสอบในคนจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟส 1 ดูความปลอดภัย เฟส 2 ดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเฟส 3 ดูผลในการป้องกันโรค ทั้งนี้สิ่งที่ดำเนินการควบคู่กันไปกับการวิจัย และพัฒนาวัคซีน คือ การเตรียมพร้อมสถานที่ผลิตวัคซีน ขณะนี้จองโรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศไว้แล้ว 2 ที่ เมื่อการทดสอบในลิงมีความชัดเจน ก็จะสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที
ข้อมูลจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กว่า 200 แบบ ในจำนวนนี้มีจีน และสหรัฐ ที่สามารถนำวัคซีนไปทดสอบเฟส 1 ในคนได้แล้ว ส่วนในไทยขณะนี้มีทั้งหมด 5 โครงการที่กำลังดำเนินการ เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA และชนิด mRNA ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของนักวิจัยที่ตั้งเป้าหมายจะให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด และเพียงพอต่อความต้องการ.-สำนักข่าวไทย