เชียงใหม่ 20 พ.ค. – โควิด-19 กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม หลายคนต้องปรับตัวสู้กับปัญหาที่รุมเร้า ทำให้เครียดมากขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตเพิ่มมากกว่าสิบเท่า ที่สำคัญภาวะเช่นนี้อาจจะเป็นตัวเร่งยอดฆ่าตัวตายพุ่งสูงขึ้น ตัวเลข 4 เดือนที่ผ่านมาทะลุ 1,400 คนแล้ว ทำให้กรมสุขภาพจิตต้องทำงานเชิงรุกค้นหากลุ่มเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ
เสียงส่วนหนึ่งของแม่ค้าย่านตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ เครียดและกังวลกับชีวิตมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทั้งการทำมาหากิน หนี้สิน ชีวิตคนในครอบครัวที่ต้องปรับตัวรับผลพวงต่างๆ จนฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ และพลังใจลดลง
สอดคล้องกับการประเมินความเครียด ของประชาชนใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ทีมสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 1 พบอยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้าและหมดไฟ กว่า 600 คน หรือผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตกับโควิด-19 ของกรมสุขภาพจิต ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีมากกว่า 1,000 ราย เพิ่มจากก่อนหน้านี้ถึง 15 เท่า เกินครึ่งเครียดและวิตกกังวล และบางส่วนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
คุณป้าคนนี้มีปัญหารุมเร้าจิตใจในช่วงโควิด-19 จนคิดฆ่าตัวตาย โชคดีที่ได้สติและคิดถึงครอบครัว ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โรงพยาบาลขอนแก่นราชนครินทร์ พบคนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 4,137 คน ในปี 2561 ปีที่แล้วเพิ่มเป็น 4,418 หรือเกือบ 300 คน และ 4 เดือนของปีนี้ ฆ่าตัวตายไปแล้วกว่า 1,400 คน แม้จะมาจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากนี้ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าชีวิตคนไทย จากผลกระทบจากโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้คนคิดสั้นมากขึ้น หากไม่สร้างภูมิคุ้นกันจิตใจ
ทำให้กรมสุขภาพจิตต้องทำงานเชิงรุก จัดรถโมบายคลายเครียดสัญจร นำร่องตามตลาดสดในเมืองเชียงใหม่ และขยายไปทั่วประเทศ ภายในรถจะมีเครื่องวัดระดับความเครียด เก้าอี้คลายเครียด บริการให้คำปรึกษา พร้อมเพิ่มสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แนะนำให้คำปรึกษา เสริมสร้างพลังใจให้คนไทย อึด ฮึด สู้ เผชิญปัญหาชีวิตอย่างมีสติและมีกำลังใจให้ผ่านวิกฤติในช่วงที่ชีวิตต้องเผชิญปัญหาทุกเรื่อง. – สำนักข่าวไทย