กทม. 20 พ.ค. – กัปตันสนอง มิ่งเจริญ กัปตันการบินไทย บอกว่านักบินและลูกเรือพร้อมร่วมมือเพื่อให้การบินไทยกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างภาคภูมิอีกครั้ง พร้อมเสนอแนวคิดการบริหารจัดการในส่วนนักบินและลูกเรือ เพื่อเตรียมพร้อมศักยภาพทางการบินเมื่อพ้นสถานการณ์โควิด-19 และไม่ให้เกิดปัญหานักบินสมองไหลซ้ำรอยในอดีต
แม้ผู้บริหารการบินไทยระบุว่า ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ แต่ระหว่างนี้ต้องจับตาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
กัปตันสนอง มิ่งเจริญ กัปตันการบินไทย ยอมรับว่าเมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนักบินทีมีอยู่ 1,400 คน และลูกเรืออีก 6,000 คน พร้อมร่วมมือ แม้ขณะนี้ทั้งนักบินและลูกเรือยังคงได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดน่านฟ้าออกไปจนถึง 30 มิถุนายน ทำให้ต้องหยุดบินต่อเนื่องนาน 3 เดือน
หนึ่งในแนวทางที่อาจเกิดขึ้นในแผนฟื้นฟูกิจการ คือ การลดพนักงาน กัปตันสนองบอกว่ามีข้อเสนอให้ลดค่าตอบแทนแทนการลดพนักงานในสัดส่วนที่เท่ากัน ก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน เนื่องจากนักบินการบินไทย 1 คน เมื่อรับเข้ามาต้องส่งไปเรียนที่โรงเรียนการบิน 1 ปี เป็นเงิน 2.5 ล้านบาท เมื่อกลับมาต้องฝึกบินกับเครื่องจำลองและเครื่องจริงอีก 1 ปี คิดเป็นค่าใช่จ่ายอีกกว่า 1 ล้านบาท เท่ากับว่ากว่าจะได้นักบิน 1 คน การบินไทยต้องลงทุน 4 ล้านบาท ใช้เวลา 2 ปี หากปลดนักบินในช่วงการฟื้นฟู เมื่อการบินกลับบินได้ปกติ ต้องใช้ทุนอีกมหาศาลในการสร้างนักบินใหม่
ที่ผ่านมาปัญหาการบินไทยขาดทุน เงินเดือนขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง และต่ำกว่าฐานเฉลี่ยทั่วไป และยังมีปัญหาการบริหารงานภายใน จนทำให้เกิดนักบินสมองไหล ลาออกไปซบสายการบินอื่น เฉพาะที่เป็นสมาชิกสมาคมนักบินไทยลาออกไปมากถึง 500 คน ในรอบ 10 ปี นั่นเท่ากับว่าการบินไทยต้องแบกรับต้นทุน 2,000 ล้านบาท แทนสายการบินอื่นที่ไม่ต้องฝึกนักบิน จะเกิดกรณีนี้ซ้ำรอยหรือไม่
กัปตันสนองเชื่อว่าพนักงานการบินไทยส่วนใหญ่รักและผูกพันกับองค์กร หากมีการพูดคุยรับฟังความเห็น หาข้อตกลงร่วมกันที่ทุกฝ่ายยออมรับได้ เพื่อให้ได้ไปต่อทั้งพนักงานและองค์กร มิฉะนั้นอาจสูญเสียบุคลากรไม่เฉพาะนักบิน แต่อาจรวมถึงพนักงานส่วนอื่นๆ ด้วย. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
► จับตา 5 ไฮไลท์สำคัญ ใน 10 ขั้นตอน แผนฟื้นฟูฯ การบินไทย
►สหภาพฯ การบินไทย ชี้สิ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ เสี่ยงเจ้าหนี้ยึดเครื่องบิน