กทม. 19 พ.ค. – ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ไม่เห็นด้วยที่ให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนถือหุ้นการบินไทยเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากส่งผลให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยถูกยุบไปด้วย พนักงานจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในช่วงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้จนอาจยื่นคัดค้านการเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการได้
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการบินไทยจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่มีมากกว่า 200,000 ล้านบาท หลัง ครม.มีมติเห็นชอบ โดยจะยื่นขอฟื้นฟูกิจการทั้งในศาลล้มละลายไทยและศาลล้มละลายสหรัฐ รวมถึงเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย บอกว่า แม้จะเห็นด้วยต่อการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 เมื่อการบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ อาจส่งผลให้เจ้าหนี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าหนี้หลัก ไม่เชื่อมั่น และอาจยื่นคัดค้านการร้องขอต่อศาลเพื่อฟื้นฟูกิจการ แม้ ครม.จะเห็นชอบให้ยื่นขอฟื้นฟูในศาลล้มละลายสหรัฐด้วย แต่หากไม่สำเร็จ เจ้าหนี้สามารถตามยึดเครื่องบินได้ทันที
อีกเหตุผลสำคัญเมื่อการบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ จะทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยถูกยุบไปตามกฎหมาย พนักงานจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานในช่วงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งต้องมีการปรับลดพนักงานแน่นอน แม้สามารถตั้งสหภาพแรงงานขึ้นใหม่ได้ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เช่นบริษัทเอกชนทั่วไป แต่ไม่มั่นใจจะทันช่วยเหลือพนักงาน แต่พร้อมน้อมรับหากเป็นไปตามกระบวนการศาล
หนึ่งในพนักงานการบินไทยที่เข้าทำงานหลังปี 2548 ซึ่งเป็นการทำงานโดยเซ็นสัญญาจ้างครั้งละ 3 ปี บอกว่า หากต้องถูกปรับลดพนักงานตามกระบวนการตามแผนฟื้นฟู ก็ยอม เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมสะท้อนถึงปัญหาภายในที่มีความล่าช้าไม่ทันสายการบินอื่น
แม้มีคำยืนยันจากผู้บริหารการบินไทยว่ายังคงดำเนินกิจการได้ตามปกติระหว่างอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู และจะให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แต่ก็ยังมีคำถามต่อจะหลายฝ่ายว่าจะทำได้จริงหรือไม่. – สำนักข่าวไทย