กทม. 18 พ.ค. – “บรรยง พงษ์พานิช” อดีตบอร์ดการบินไทย มองว่าระบบการบริหารแบบรัฐวิสาหกิจ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบินไทยเกิดวิกฤติ เนื่องจากไม่คล่องตัว นอกจากนี้ยังมีการลุงทุนที่สูง การจัดซื้อผ่านเอเย่นต์แทบทุกรายการ การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้
เริ่มเห็นทิศทางการแก้ปัญหาการบินไทย เมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีมติให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย และเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาพรุ่งนี้ ซึ่งตามกฎหมาย การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและการตั้งผู้บริหารแผน ต้องผ่านความเห็นชอบจากศาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั่นก็คือเจ้าหนี้
บรรยง พงษ์พานิช อดีตบอร์ดการบินไทย ชี้ให้เห็นสาเหตุใหญ่ที่ทำการบินไทยเดินถึงจุดนี้ คือระบบการจัดการ เนื่องจากการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องบริหารงานภายใต้กฎหมายหลายฉบับ ขาดความคล่องตัว การบริหารอยู่ภายใต้อกระทรวงต้นสังกัดที่ถือหุ้นและข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้อง ตัดสินใจเองไม่ได้ แทรกแซงได้ทุกขั้นตอน ถือเป็นจุดใหญ่จุดตายของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ต้องแข่งกับเอกชน
อีกสาเหตุสำคัญต้นทุนสูง สวนทางกับกำไร กลายเป็นตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการซื้อครื่องบิน ที่เรียกได้ว่าเป็นการซื้อผิดคือแอร์บัส A380 ที่สั่งซื้อมา 6 ลำ ราคาต่อลำมากกว่า 10,000 ล้านบาท มีถึง 500 ที่นั่ง แต่เมื่อนำมาบินปรากฏว่าผู้โดยสารไม่เคยเต็มลำ จนต้องหยุดไป เพราะไม่คุ้มต้นทุนบินแต่ละเที่ยว หรือการซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัส A340-600 จำนวน 6 ลำ แต่เครื่องบินรุ่นนี้ นอกจากการบินไทย สายการบินอื่นก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ต้นทุนต่อหนึ่งเก้าอี้ต่อหนึ่งกิโลเมตรของการบินไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาท 80 สตางค์ ขณะที่สายการบินโลว์คอสต์ อย่างนกแอร์ อยู่ที่ 2 บาท 40 สตางค์ หรือแอร์เอเชียอยูที่ 1 บาท 70 สตางค์ การบินไทยต้นทุนแพงกว่า 2 เท่าตัว
ปีนี้หลายสายการบินทั่วโลกขาดทุน แต่ปีที่แล้วมีกำไร ขณะที่การบินไทยขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี จึงกลายป็นงานหนักและงานยากสำหรับคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูที่จะต้องเข้ามากอบกู้วิกฤติครั้งนี้. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►“บรรยง พงษ์พานิช” ชี้ฟื้นฟูการบินไทย ต้องแก้ให้ตรงจุด ตอน 1