กรุงเทพฯ 18 พ.ค.-ธปท.เผยสินเชื่อแบงก์ไตรมาส 1/63 โต 4.1% สวนทางเศรษฐกิจหดตัว เหตุธุรกิจขนาดใหญ่กลับมาขอสินเชื่อแทนการออกหุ้นกู้ ด้านกำไรแบงก์ลดลง 7.3% เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.05 % พิษโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจหดตัว
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 52,900 ล้านบาท ลดลง 7.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการระบาดของโควิด-19 และมาจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 283,600 ล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อ สินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 18.7% ซึ่งอยู่ในระดับสูงสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้
ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อไตรมาส 1 ปี 2563 ขยายตัวที่ 4.1% ซึ่งสวนทางกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ติดลบ 1.8 % โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวที่ 5.3 % ตามความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายประเภทธุรกิจที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวน สวนทางกับสินเชื่อธุรกิจ SME หดตัวเล็กน้อยที่ 0.2 % สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 5.6 % ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามยอดซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่ลดลง ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตชะลอตัวลงมากตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่สินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตได้ค่อนข้างสูงที่ 10.9 % โดยเฉพาะสินเชื่อรถแลกเงินที่คนมีความจำเป็นต้องกู้เงิน หรือหมุนเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากสิ้นปี 2562 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจชะลอตัวและการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 โดยอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 3.05 % เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.98 % ซึ่งสถานการณ์เอ็นพีแอลจะปรับขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาลที่จะเข้าไปช่วยเหลือ มาตรการของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้และการปรับตัวของผู้ประกอบการ.-สำนักข่าวไทย