สุราษฎร์ธานี 16 พ.ค.- นักวิจัยสถานีฯ ป่าคลองแสง สุราษฎร์ธานี ตามเฝ้ากว่า 6 เดือน “นกชนหิน” หนึ่งในสายพันธุ์นกเงือกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เก็บข้อมูลละเอียดยิบตั้งแต่แม่นกเข้าโพรง และพ่อนกป้อนอาหาร ล่าสุดที่น่ายินดีเห็นลูกนกตามแม่ออกโพรงรัง
นายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ได้พบลูกนกชนหินเกิดใหม่ 1 ตัว ในบริเวณผืนป่าคลองแสง-เขาสก ท้องที่เขต อ.บ้านตาขุนกับ อ.พนม ซึ่งลูกนกชนหินเป็นหนึ่งในสายพันธุ์นกเงือกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก โดยเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงได้ติดตามและเฝ้าระวังมาตั้งแต่แม่นกเข้าโพรงเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2562 ปิดปากโพรงวันที่ 24 ธ.ค.2562 และได้ลงพื้นที่ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. ทำการเก็บข้อมูลต่อเนื่องถึง 143 วัน นับจากแม่นกเข้าโพรง ปิดปากโพรง ออกไข่ ฝักไข่ เลี้ยงลูก จนกระทั่งวันที่ 13 พ.ค.2563 เวลา 12.10 น. พบแม่นกออกจากโพรง และเวลา 15.11 น. ลูกนกได้ตามออกมา
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่นักวิจัยสถานีสัตว์ป่าคลองแสง ได้บันทึกพฤติกรรมการช่วงเวลาเข้า-ออกจากโพรงรังเข้าป้อนอาหารของพ่อนก ชนิดอาหาร ปริมาณที่ป้อนและพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การทำความสะอาดบริเวณปากโพรง การส่งเสียงร้อง ทิศทางการบินเข้าและออก ตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่เข้ามาในบริเวณโพรงรัง ตัวเมียถ่ายมูล สภาพอาหาร เป็นต้น ตลอดเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ทุ่มเทติดตามเก็บข้อมูลชีววิทยาและนิเวศวิทยาการสืบพันธุ์ของนกชนิดนี้ทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นการเฝ้าระวังโพรงรังไม่ให้ถูกคนมาทำลายพวกมันอีกด้วย
“สำหรับพ่อแม่นกคู่นี้ออกลูกต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้วอาศัยอยู่ในโพรงรังเดิม ซึ่งได้พบมีการจับคู่ชัดเจนแล้วอย่างน้อย 5 คู่ ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าฝูงนกชนหินจะมากขึ้น และจะมีมากที่สุดในประเทศในผืนป่าพระแสง-คลองสก เพราะเป็นป่าลึกที่อุดมสมบูรณ์ มีโพรงธรรมชาติที่เหมาะแก่การผสมพันธุ์ ซึ่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะมีอายุอยู่ได้ 40 ปี แต่ที่พบคู่พ่อแม่ตอนนี้เพิ่งมีอายุกว่า 5 ปียังมีลูกได้อีก ”
นายเกรียงศักดิ์ อธิบายด้วยว่า สาเหตุการขยายพันธุ์นกชนหินยังมีน้อย เนื่องจากยังไม่เจอโพรงธรรมชาติที่เหมาะสม โดยโพรงจะต้องมีจะงอยและมีกิ่งที่บริเวณปากโพรงให้พ่อนกจับแล้วใช้หัวไปวาง เพื่อส่งอาหารให้แม่นกกับลูกนกในโพรง และเกาะเฝ้าหน้าโพรง เนื่องจากตัวเมียจะต้องอยู่ในโพรงจนเกิดลูก 5 เดือน หากได้โพรงไม่เหมาะสมอาจทำให้แม่นกกับลูกตายได้ เพราะพ่อนกมาส่งอาหารให้ไม่ได้.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณภาพ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง