ม.มหิดล 14 พ.ค.-มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวหุ่นยนต์ “เวสตี้” เก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาล และ “ฟู้ดดี้” หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย คาดเริ่มใช้งานจริงประมาณกลางเดือน มิ.ย.นี้
รศ.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล พร้อมด้วย นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว หุ่นยนต์เวสตี้(WASTIE) เก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลภาคสนามและหุ่นยนต์ฟู้ดดี้(FOODIE) ช่วยส่งอาหารและยาในหอผู้ป่วย
รศ.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาของโครงการนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่เกิดจากการสัมผัสและได้นำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับหุ่นยนต์เวสตี้ เก็บขยะติดเชื้อ ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ AGV(Automatic Guide Vehicle) นำทางด้วยระบบเทปแม่เหล็กไว้ที่พื้นเป็นเส้นนำทาง เมื่อถึงจุดรับขยะจะอ่านบาร์โค้ดแล้วยกถังขยะติดเชื้อไปเก็บไว้ที่กระบะจัดเก็บ โดยมีแขนกล (CoBot) สำหรับยกถังขยะ ซึ่งมีระบบ Machine Vision ในการจำแนกประเภทวัตถุและตำแหน่งการยก แต่ละครั้งยกได้สูงสุด 5 กิโลกรัม ส่วนตัวหุ่นยนต์สามารถรับบรรทุกน้ำหนักขยะได้มากถึง 500 กิโลกรัม ทำความเร็วเคลื่อนที่ได้ไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที หุ่นยนต์ตัวนี้หากใช้ในโรงพยาบาลจะสามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน ช่วยลดปัญหาการติดเชื้อของบุคลากรในโรงพยาบาล และลดความล่าช้าจากการขนส่งได้มากกว่า 50%
ส่วนหุนยนต์ “ฟู้ดดี้”ใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบQR-CODE MAPPING โดยหุ่นยนต์จะเดินทางผ่าน QR-CODE บนพื้น สามารถรับน้ำหนักได้ 30-50 กิโลกรัม ทำความเร็วในการเคลื่อนที่ 8 เมตรต่อ 1 นาที สามารถนำส่งอาหาร 3 มื้อ ยาและอุปกรณ์การแพทย์ ไปยังหอผู้ป่วย ได้ประมาณ 200 คนต่อวัน
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้จริงอีก 1 เดือนข้างหน้า หรือกลางเดือนมิถุนายน โดยเริ่มแรกจะสร้างใช้งานชนิดละ 5 ตัว รวม 10 ตัว
ด้าน นพ.สมชาย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ได้รับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ามารักษาจำนวน 60 คน ขณะนี้ได้รักษาจนหายและกลับบ้านได้ทั้งหมดแล้ว ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการ ที่จะพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในหอผู้ป่วยโควิด เชื่อว่าในอนาคตมีโอกาสที่โรคนี้จะกลับมาระบาดได้อีกครั้ง จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับบุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งผู้ป่วย 1 คน ทำให้เกิดความเสี่ยงแก่บุคลากรของศูนย์ได้อย่างน้อยถึง 7 คน แบ่งเป็นอาหารและยา 3 มื้อ โดย1มื้อต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไป 2 คน รวม 3 มื้อ 6 คน และแม่บ้านเข้าไปเก็บขยะติดเชื้ออีก 1 คน รวมทั้งลดจำนวนการใช้ชุด PPE ซึ่งทุกครั้งที่เข้าไปทุกคนต้องสวมชุด PPE ตรงนี้จะช่วยลดความเสี่ยง และลดความสิ้นเปลืองได้มาก ในอนาคตจะได้พัฒนาไปใช้กับผู้ป่วยในแผนกอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับ “นิวนอร์มัล” ที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อลดความแออัด และความเสี่ยงในโรงพยาบาล.-สำนักข่าวไทย