เปิด 2 แนวทางแก้ปัญหาการบินไทย

กรุงเทพฯ 13 พ.ค.- การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในฐานะที่ปัจจุบันเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจ และสายการบินแห่งชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายวันแล้ว สุดท้ายก้าวต่อไปของการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะเป็นอย่างไร โดยมี 2 แนวทางออก ขณะที่นายกรัฐมนตรี ระบุอยู่ระหว่างตัดสินใจแนวทางฟื้นฟู และยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

นายกฯ ระบุกำลังตัดสินใจแผนฟื้นฟูการบินไทย



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแผนการฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องดูในเรื่องของแผนฟื้นฟูบริษัทด้วย ส่วนกรณีที่มีการเสนอยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ อยู่ในเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไร วิธีการที่จะเข้าไปแก้ไข ก็ต้องหาวิธี ถ้าหาวิธีอื่นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องกลับเข้าไปสู่ขั้นตอนของกฎหมาย

เมื่อถามว่า แสดงว่ายังไม่ถึงขั้นเด็ดขาดที่จะใช้วิธีการดังกล่าวใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น อยู่ระหว่างกำลังตัดสินใจกันอยู่


2 แนวทางแก้ปัญหาการบินไทยยังไม่ตกผลึก


จากการระบาดของโควิด-19 และการจำกัดการเดินทางป้องกันการระบาด ทำให้อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบหนักทั่วโลก และเป็นตัวเร่งให้สถานะของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติของไทย ซึ่งขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีอาการหนักอยู่แล้ว เข้าข่ายอาการหนักขึ้นไปอีก โดยสถานการณ์โควิดรอบนี้ ทำให้การบินไทยต้องหยุดบินทั้งหมดตั้งแต่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สถานะที่บริษัทจะกลับมาลุ้นสร้างรายได้ในปีนี้จบลงทันที หลีกไม่พ้นการต้องก้าวสู่การฟื้นฟูกิจการทางหนึ่งทางใด


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม ยืนยันแผนฟื้นฟูการบินไทย อยู่ระหว่างให้ฝ่ายบริหารการบินไทย และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ทำแผนตามกรอบมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร . ซึ่งจะสรุปในเดือนพฤษภาคมนี้ หากแผนไปต่อไม่ได้ ต้องพิจารณาแนวทางเรื่องการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2559

เหตุผลหลายฝ่ายค้านเติมเงินการบินไทยก่อนปรับองค์กร


ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ผลประกอบการ และที่มาการขาดทุนหนักต่อเนื่องหลายปีของการบินไทย หลายฝ่ายทั้งอดีตบอร์ดฯ ผู้บริหารการบินไทย อดีต รมว.คลัง สหภาพแรงงานการบินไทย จนถึงการวิพากวิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย เปิดข้อมูลและคัดค้าน หากรัฐบาลจะใส่เงินเข้าอุ้มการบินไทย โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างองค์กร โดยมีข้อมูลระบุว่า ภาครัฐต้องใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท ทั้งการใช้เงินเสริมสภาพคล่อง ค่าใช้จ่ายพนักงาน และภาระเงินกู้รูปแบบต่างๆ ที่ครบกำหนดของการบินไทย

ผลประกอบการของการบินไทยที่น่าจะไปสู่ความพยายามให้การบินไทยปรับตัวเองก่อน เมื่อไปดูรายละเอียดตัวอย่างปี 2562 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. พบว่า การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 188,954 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน 149,000 ล้านบาท ตามด้วยค่าระวางขนส่ง 17,242 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายรวม 199,989 ล้านบาท ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายน้ำมันเครื่องบิน ที่เป็นต้นทุนสำหรับกิจการการบิน 54,675 ล้านบาทแล้ว ต้นทุนที่สูงอีกก้อนหนึ่งของการบินไทย คือ ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ปี 2562 สูงถึง 31,171 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับนักบินและลูกเรืออีก 6,241 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าซ่อมบำรุงอากาศยานเกือบ 20,000 ล้านบาท และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่อีก 15,000 ล้านบาท

แนวความคิดของแกนนำรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการบินไทย มีรายงานระบุว่า ยังไม่ตกผลึก จนยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น 2 แนวคิด คือ

แนวคิดกลุ่มแรก มีความกังวลหากการบินไทยต้องสิ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และสายการบินแห่งชาติ เพราะไทยเป็นประเทศมีรายได้การท่องเที่ยวเป็นหลัก มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่าปีละ 39 ล้านคน รายได้ต่อปีกว่า 1 ล้านล้านบาท หากไม่มีสายการบินแห่งชาติสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวนี้ และแม้แต่คนไทยเองต้องใช้สายการบินต่างชาติ หรือต่างชาติถือหุ้น ในงานบริการเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมด ก็ถือว่าไทยสูญโอกาสมหาศาล

แนวคิดกลุ่มที่ 2 เห็นว่า โดยสถานการณ์การบินไทย ที่ต้องใส่เงินมหาศาลขนาดนี้ ในภาวะที่ไทยมีข้อจำกัด ต้องใช้เงินแก้ปัญหาโควิด การเดินสุดซอยให้การบินไทยแปลงสภาพเป็นเอกชน ลดขนาดองค์กรให้คล่องตัว แก้ปัญหาหนี้ที่มี  ผ่านกระบวนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อให้การบินไทย กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งเห็นด้วยกับแนวคิดหลังนี้ โดยยังเชื่อว่า การแข่งขันเสรีการบินมีการแข่งขันของสายการบินหลายราย ทั้งด้านราคาและบริการ จะทำให้ผู้ใช้บริการซึ่งก็คือประชาชน ได้ประโยชน์สูงสุด

ทางออกปัญหาการบินไทยอาจถึงกระบวนการล้มละลาย


สำหรับทิศทางการฟื้นกิจการของการบินไทย ที่ถูกขีดเส้นจะต้องสรุปในเดือนพฤษภาคมนี้ รายงานข่าวระบุแล้วว่า แนวทางสุดซอยอาจเป็นทางออก โดยใช้กระบวนการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงบอร์ด และฝ่ายบริหารการบินไทย เพื่อให้มีมืออาชีพมาทำแผนบริหารหนี้และฟื้นฟูองค์กร ก่อนนำการบินไทย เข้าสู่ทำแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง เพื่อเคลียร์ปัญหากับเจ้าหนี้ ลดการถือหุ้นของรัฐ เพื่อให้การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ การจัดการสินทรัพย์ที่มี จัดการโครงสร้างลดขนาดองค์กรให้เล็กลงคล่องตัว โดยตัดหน่วยธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรออกไป จัดการโครงสร้างฝ่ายบริหาร ลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงาน

โดยภายใต้กรอบดำเนินการภายใน 2 ปี เป้าหมายจะจัดการปัญหาให้แล้วเสร็จ สอดคล้องกับระยะเวลาที่ธุรกิจการบินอยู่ในช่วงซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 จนถึงเดือนสิงหาคมปีหน้า ตามการคาดการณ์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการบินไทยจะกลับมาบินอย่างแข็งแรง ในช่วงที่ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาในเวลาไล่เลี่ยกัน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจ ลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร ด้านบริษัท 9PK นำเอกสารชี้แจง พร้อมขอให้บริษัทจีนช่วยอนุมัติเงินมาจ่ายให้กลุ่มผู้รับเหมาก่อน

จับแล้วโจรบุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่

จับแล้วโจรมาเลย์บุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่ จนมุมสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เผยมาหาลูกชายที่ จ.นนทบุรี แต่ลูกไม่ให้เข้าบ้าน

ปิดล้อมจับชายวัย 43 ยิงเพื่อนบ้าน-ตร.เจ็บ 4

ตำรวจปิดล้อมนานถึง 11 ชั่วโมง จับชายวัย 43 ปี ใช้ปืนยิงเพื่อนบ้านและตำรวจที่เข้าระงับเหตุ บาดเจ็บรวม 4 ราย หลังโมโหเพื่อนบ้านติดกล้องวงจรปิดหันส่องไปทางบ้านผู้ก่อเหตุ ยิงแก๊สน้ำตา-ญาติเกลี้ยกล่อม ยังไม่เป็นผล

แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ในไต้หวัน-ไม่มีรายงานความเสียหาย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไต้หวันรายงานวันนี้ว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดด 5.8 ที่เทศมณฑลอี้หลาน (Yilan) ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลทางตจะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ข่าวแนะนำ

คุมตัวโจรมาเลย์ชิงทอง 138 บาท ทำแผนฯ

ตำรวจคุมตัวโจรมาเลย์ชิงทอง 138 บาท ในพื้นที่หาดใหญ่ ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พบประวัติสุดแสบ ปล้นฆ่าที่มาเลเซียตั้งแต่อายุ 17 ยังหนีมาก่อเหตุซ้ำที่ไทยอีกหลายครั้ง

นายกฯ ขึ้น ฮ. ดูสภาพจราจรเดินทางสงกรานต์

นายกฯ ขึ้น ฮ. บินดูสภาพจราจร ถ.มิตรภาพ-เส้นทางขึ้นเหนือ-ลงใต้ เตรียมพร้อมประชาชนเดินทางกลับบ้านสงกรานต์ พร้อมตรวจคืบหน้าก่อสร้างทางด่วนพระราม 2 มั่นใจเปิดใช้เต็มรูปแบบ ปลายปี 68 ขณะ “สุริยะ” ยันปลอดภัย ไม่มีของตกหล่น สั่งหยุดก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้แทน สตง.แจงยิบสร้างตึก สตง. ยันเหล็ก-ปูนมีมาตรฐาน

กมธ.ติดตามงบฯ ถกโครงการสร้างตึก สตง.แห่งใหม่ ด้าน ‘ผู้แทน สตง.’ แจงยิบปรับสัญญาถึง 14 มิ.ย.นี้ ทั้งที่การสร้างต้องเสร็จ 31 ธ.ค.66 ยัน เหล็ก-ปูนมีมาตรฐาน ลั่นเดินหน้าสร้างต่อ แต่ปรับรูปแบบไม่สูง-ทับที่ตึกเก่า ใช้งบที่เหลือสร้าง