สธ. 5 พ.ค.-อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แจงปัจจัยแล็บยะลาคลาดเคลื่อน มี 3 สาเหตุ “คน-เครื่องมือ-ระบบ” เผยในการสอบทาน เชื้อโควิด-19 พบตัวอย่างน้ำเปล่า ที่ต้องให้ผลลบ กลับเป็นบวก คาด 40 ตัวอย่างเชื้อส่งถึง กทม.และตรวจรู้ผล 6 พ.ค.นี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวชี้แจงกรณีผลตรวจยืนยันโควิด-19 จำนวน 40 คนที่แล็บยะลาคลาดเคลื่อน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากพื้นที่ ที่ร่วมกันระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เบื้องต้นคาดว่า ความคลาดเคลื่อน 1 ใน 3 ของสาเหตุ ดังนี้ 1.ความผิดพลาดจากมนุษย์ผู้ปฎิบัติหน้าที่ 2. ความผิดพลาดของเครื่องมือ และ 3. ความผิดพลาดจาก ระบบ
ส่วนขั้นตอนการตรวจยืนยันเชื้อใช้วิธี RT PCR จะต้องมีตรวจสอบทาน ทั้งนำตัวอย่างผลบวกและผลลบมายืนยันร่วมด้วย ซึ่งตัวสอบทานนี้จะต้องให้ ผลยืนยันคงที่ ไม่ไขว้เขว โดยตัวสอบทานที่ใช้ปกติในการตรวจเพื่อยืนยันผลลบจะใช้น้ำเปล่า แต่ครั้งเกิดปัญหานี้ กลับพบว่าผลสอบทานที่เป็นน้ำเปล่า ให้ผลตรวจกลายเป็นบวก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต้องหยุดตรวจ และตรวจสอบยืนยันใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องรอตรวจสอบว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร และการออกมาเปิดเผยถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ถือว่าทำตามมาตรฐานของห้องปฎิบัติการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องกล้าบอก
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตัวอย่างเชื้อทั้ง 40 ตัวอย่างกำลังถูกนำมา ตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเดินทางไม่สามารถส่งมาได้ด้วยเครื่องบิน จึงเดินทางมาด้วยรถยนต์ ใช้เวลา 16 ชั่วโมง คาดว่าจะถึงกรุงเทพฯ วันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.)และจากนั้นใช้เวลาตรวจอีก 3 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามไม่อยากให้มีการเพ่งโทษหรือเอาผิดกับใคร เพราะการตรวจสามารถเกิดความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดได้ และไม่ต้องกังวลในกระบวนการตรวจนี้ ควบคู่กับกระบวนการค้นหาผู้ป่วย ที่ยังดำเนินการต่อ โดยทั้ง 40 คนนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว ไม่ได้มีการออกมานอกระบบ ไม่ได้ออกมาปะปนกับคนภายนอก กระบวนการควบคุมโรคยังดำเนินการตามปกติ
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ จังหวัดยะลา มีการตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ไปแล้ว 4,000 ตัวอย่างภายใน 1 เดือน โดยเครื่องตรวจ RT PCR ทราบว่าเป็นเครื่องใหม่ แต่ไม่ยังสามารถ ระบุรายละเอียด ได้ ถึงช่วงเวลาของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ว่าในช่วงเวลาใด ชัด ส่วนการตรวจยืนยันโควิด -19 ภาพรวมทั่วประเทศ ดำเนินการไปแล้ว 227,860 ตัวอย่าง ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการตรวจ 6,000 ตัวอย่างมากกว่าเดิม 2 เท่า .-สำนักข่าวไทย