กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสหกรณ์รวมพลังสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค หวังบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 เผย 2 เดือน ใช้สื่อออนไลน์โปรโมทสินค้าและเจรจาซื้อขายผลไม้และสินค้าประมงไปแล้ว 1,306 ตัน มูลค่า 14.963 ล้านบาท
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อการกระจายผลผลิตของสหกรณ์สู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผัก ผลไม้ และสินค้าประมง เนื่องจากที่ผ่านมาสหกรณ์จะรวบรวมผลไม้ส่งออกไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศจำนวนมาก แต่ต้องหยุดชะงัก เพราะประเทศคู่ค้าหยุดการสั่งซื้อจากผลกระทบโควิด 19 สินค้าเกษตรหลายชนิดไม่มีตลาดรองรับ ทำให้ผลผลิตล้นตลาดในพื้นที่แหล่งผลิตและราคาตกต่ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ทุกจังหวัดช่วยกันสั่งซื้อสินค้าจากสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อกระจายสู่ตลาดและผู้บริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายและช่วยกันประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ทั้งทางเพจ Facebook และ Line ของสหกรณ์
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา สหกรณ์ทั่วประเทศสร้างเครือข่าย เพื่อช่วยกันกระจายสินค้าคุณภาพจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค เน้นผลผลิตการเกษตรของสมาชิกที่สหกรณ์รวบรวมและช่วยหาตลาด อาทิ ผลไม้ เกลือ ปลากะพง ปลานิล ปลาทับทิม ปลากดคัง กุ้งขาว แวนนาไมและกุ้งก้ามกราม เบื้องต้นสามารถรวบรวมและกระจายสินค้าการเกษตรในช่วง 2เดือน มูลค่า 14.963 ล้านบาท อาทิ มะม่วง ลำไยลิ้นจี่ เงาะ รวม 133.142 ตัน มูลค่า 4.119 ล้านบาท เกลือทะเลกระจายไปยังสหกรณ์ปลายทาง 71 จังหวัด จำนวน 1,150 ตัน มูลค่า6.325 ล้านบาท และยังมีสินค้าประมง ได้แก่ ปลากะพง ปลานิล ปลาทับทิมอีก 2.305 ตัน มูลค่า 0.279 ล้านบาท กุ้งแวนนาไมและกุ้งก้ามกราม 21.202 ตันมูลค่า 4.240 ล้านบาท
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า กรณีผลกระทบโควิด-19 ได้มองเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาด จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง เพื่อสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 45,037,200 บาท ขณะนี้ทุกอย่างพร้อมช่วยเหลือสหกรณ์เต็มที่ โดยจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายกระจายผลไม้ออกนอกพื้นที่ให้กับสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ ซึ่งอยู่ต้นทางแหล่งผลิต 90 แห่ง ใน 31 จังหวัด แบ่งเป็นค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1 บาท รวม 11,700,000 บาท และชดเชยค่าขนส่งให้กิโลกรัมละ 2 บาท รวม 23,400,000 บาท ส่วนสหกรณ์ปลายทางที่ตั้งอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ 824 แห่ง จะได้รับค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เป็นค่าขนส่งค่าจ้างคนงานและจัดซื้อถุงใส่ผลไม้ รวมทั้งสิ้น 5,850,000 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับสหกรณ์ในการกระจายผลผลิตจากสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคในแต่ละจังหวัด และยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่ง 4,087,200 บาท สนับสนุนด้านบรรจุภัณฑ์ โดยให้สหกรณ์นำไปจัดซื้อตะกร้า 191,700 ใบ เพื่อขนส่งผลไม้ไปสู่ผู้บริโภคปลายทางได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนค่าบรรจุภัณฑ์ดูจากแผนการรวบรวมผลผลิตของแต่ละสหกรณ์ที่เสนอเข้ามาและจะกระจายไปตามสัดส่วนของปริมาณผลผลิตในแต่ละจังหวัด ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายผลไม้ของเครือข่ายสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภค นอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องผลไม้กระจุกตัวในพื้นที่ แหล่งผลิตและราคาตกต่ำแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภคอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย