กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คาดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2563 ทรุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีมา 20 ปี
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสากรรม(สศอ.) เปิดเผยว่าสศอ.ปรับลดประมาณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ปี 2563 ทั้งปีติดลบ 6 – 7% จากเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาคาดขยายตัว 2 – 3% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนีเอ็มพีไอเมื่อเดือน ม.ค. 2543 และการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5 – 6.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5 – 2.5% เนื่องจากผลกระทบจากต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปเป็นวงกว้างและยังควบคุมไม่ได้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเริ่มผ่อนคลายในทิศทางที่ดีขึ้น
“เบื้องต้น สศอ. จึงมีมุมมองต่อเศรษฐกิจในประเทศช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มชัดเจนว่าสามารถกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องประเมินเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ซึ่งอาจจะยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี จึงต้องรอประเมินสถานการณ์ของต่างประเทศอีกครั้ง คาดว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะชัดเจนมากขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยแค่ไหน จากปัจจุบันสัดส่วนการผลิตของไทยมีการจำหน่ายในประเทศและส่งออกประมาณ 50 ต่อ 50” นายทองชัย กล่าว
สำหรับดัชนีเอ็มพีไอเดือนมี.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 102.79 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.25% เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม แต่เพิ่มขึ้น 1.87% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 99.90 เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.22% เทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ 66.06%
อย่างไรก็ตาม ยอดการจำหน่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.49 โดยผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม อาทิ อาหารแปรรูป ได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 1.87 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 67.22
ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ร้อยละ 5.22 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Hard disk drive ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังทั่วโลกใช้นโยบาย work from home และอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง โดยมีดัชนีผลผลิตหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 68.93
ทั้งนี้ มีความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 0.8
นายทองชัย กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมีนาคม 2563 ได้แก่ น้ำตาลจากภาวะภัยแล้ง รถยนต์และเครื่องยนต์จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมีนาคม ได้แก่ Hard disk drive ,เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ,การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ,เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และอาหารทะเลแช่แข็ง
อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ความต้องการสินค้าในตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมบางสาขามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารบางสาขา และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการเตรียมผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการนำเข้ารวม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.49 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.72 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบันรวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค . – สำนักข่าวไทย