สธ 28 เม.ย.–กรมควบคุมโรค แจงผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ คงเข้มค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ตรวจแล็บตัดวงจรโรค จับตากลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ-ระบบทางเดินหายใจ กลุ่มบุคลากรทางแพทย์ และหลังผ่อนปรนต้องประเมินผลทุก 2 สัปดาห์ เตรียมออกหลักเกณฑ์เพื่อภาคธุรกิจใช้พิจารณา ห่วงสถานศึกษายังไม่มีแนวทางชัดเจน เด็กอาจไม่ป่วยหนัก เท่าครูและพ่อแม่
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 คน ในกลุ่มนี้เป็นผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยเดิมถึง 5 คน ซึ่งแสดงว่าเป็นการป่วยในวงจำกัด และไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น จึงมีข้อเสนอให้ปรับมาตรการบางอย่าง และคงมาตรการบางอย่างไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มจำนวนมาก จนระบบสาธาณณสุขรับไม่ไหว โดยมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและมีระยะห่างระหว่างบุคคล ยังต้องมีไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะไม่สามารถทำให้โรคนี้ลดลง หรือหายไปได้เลยทันที จนกว่าจะมี 1.วัคซีนมากพอฉีดให้กับคนไทยทุกคน 2.มีการติดเชื้อจำนวนมากจนโรคหยุดไปเอง ซึ่งคงไม่สามารถทำได้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อในส่วนของระบบสาธารณสุข คือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง การสอบสวนโรค การตรวจในห้องปฏิบัติการ เหล่านี้ยังต้องมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่ เพื่อเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นและตัดวงจรของโรค พร้อมต้องจับตาสังเกตความเปลี่ยน แปลงในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และระบบทางเดินหายใจ กลุ่มบุคลากรทางแพทย์อย่างเข้มข้นด้วย ขณะเดียวกันต้องควบคู่มาตรการ ให้ความรู้ความเข้าใจโรคมากขึ้น ที่เปลี่ยนตามสถานการณ์ เช่น วิธีการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยในการใช้รถโดยสารสาธารณะหรือการใกล้ชิดผู้สูงอายุ ไม่ให้ติดโรค รวมถึงมารยาทบนโต๊ะอาหารที่เปลี่ยนไป การมีระยะห่างและยังต้องให้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มีการทำงานที่บ้านถึงร้อยละ 70 พร้อมยอมรับโจทย์การเปิดภาคเรียนในสถานศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องหารืออย่างละเอียด ทำอย่างให้มีการศึกษาทางไกล การเรียนออนไลน์ การวางระบบอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะการเจ็บป่วยในเด็กไม่รุนแรง บางคนไม่แสดงอาการ แต่ครูอาจมีการเจ็บป่วย พ่อแม่ ครอบครัวปู่ย่า ตายาย คนสูงอายุในครอบครัว อาจป่วยและมีอาการรุนแรง
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า มาตรการภาคบังคับอื่นที่ยังคงมี จำกัดการเดิน ทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ ห้ามออกนอกเคหสถาน ในเวลากลางคืน จนถึงเดือนพฤษภาคม ส่วนที่เริ่มผ่อนคลาย คือร้านค้า กิจการ ที่ไม่มีระบบปรับอากาศ ที่ทยอยเปิดต้องมีการประเมินผลทุกๆ 2 สัปดาห์ พร้อมให้กรอบแนวคิดการปรับตัวของสถานประกอบคือ
1.การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล อาจต้องมีการดีไซน์ออกแบบกิจการของตนเอง ให้มีระยะห่างในการใช้บริการ เช่น โต๊ะในร้านอาหาร ต้องนั่งห่างกัน อย่างไร ไม่ปล่อยให้มีการนั่งประจันหน้ากัน
2.การออกแบบทางวิศวกรรม ไม่เปิดระบบปรับอากาศ หรือออกแบบแผงกั้น กรณีนั่งรับประทานอาหารติดกัน เพื่อความปลอดภัย เพราะบางคนไม่ได้รู้จักหรือมาด้วยกันมาก่อน
3.การปรับปรุงระบบ มีการนำเทคโนโลยีมีใช้ การจัดคิวในร้านอาหาร ร้านทำผม
4.การสวมเครื่องป้องกัน ท้งในผู้ปรุงอาหาร พนักงานเสริ์ฟ และ คนมาใช้บริการ ก่อนเข้าร้านต้องวัดไข้ ล้างมือ ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจเสี่ยงต่ำจะสามารถผ่อนปรนเปิดกิจการได้ก่อน .-สำนักข่าวไทย