สมุทรสาคร 24 เม.ย. – กลุ่มผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง-แปรรูป มองหลังผ่านโควิด-19 โอกาสสินค้าไทยยังขยายตลาดได้อีกมาก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังประชุมหารือผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรสาคร ว่า ได้จัดทำแผนที่จะเดินหน้าร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชนรวมถึงเกษตรกรเพื่อช่วยกันทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นบวก ซึ่งกำหนดแนวทางไว้ 4 แนวทาง คือ 1.ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะกระป๋อง มอบหมายกรมการค้าต่างประเทศนัดผู้ผลิตเหล็กผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องและผู้แปรรูปและผู้ส่งออกอาหารทะเลมาพบเพื่อหาทางร่วมกันในการลดต้นทุน 2.กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดในการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรหรือ uk ถ้าเป็นไปได้จะเดินหน้าทำ FTA กับแอฟริกาและกลุ่มประเทศยูเรเซียรวมทั้งการดำเนินหน้าที่จะผลักดันให้เกิดการลงนามในข้อตกลง RCEP ให้ได้ในปีนี้
แนวทาง 3.กระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนเร่งขยายตลาด ได้แก่ จีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ และอเมริกา ซึ่งจะเร่งจัดทำแผนทำตลาดร่วมกันเพื่อเร่งเปิดตลาดหลังจากนี้ และแนวทาง 4. ทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำแผนประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น เน้นความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิดเพื่อให้คนทั้งโลกมั่นใจผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยที่ส่งออกไปนั้นปลอดจากโควิด ซึ่งคาดว่าทั้ง 4 แนวทางดังกล่าวจะดำเนินการจัดทำแผนร่วมกันได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทยตัวเลขมูลค่าการตลาดทั้งหมดในภาพรวมของปีที่แล้ว 2562 ประมาณ 172,235 ล้านบาท ผลผลิตทั้งหมด 1,188,523 ตัน บริโภคในประเทศร้อยละ 22 ส่งออกร้อยละ 78 โดยประมาณการส่งออกปีที่แล้ว 2562 ทั้งหมด 173,961.78 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.28 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด และไตรมาสแรกปี 63 ยอดส่งออกทั้งหมด 37,910 ล้านบาท
สำหรับตลาดหลักประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและออสเตรเลียเป็นด้านหลัก สำหรับสหรัฐอเมริกาเราส่งออกร้อยละ 21.4 ญี่ปุ่นร้อยละ 20.7 จีนร้อยละ 6.3 และออสเตรเลียร้อยละ 5.4 ผลิตภัณฑ์สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดในภาพรวมประกอบด้วย 1. ปลาทูน่ากระป๋องปลาซาร์ดีนกระป๋อง 2.อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากทูน่า3.กุ้ง 4.ปลาหมึก 5.ปลา หมวดสำคัญของเราอันหนึ่งก็คือทูน่ากระป๋องซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นลำดับหนึ่งของโลกมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 28.5 มูลค่าการส่งออกปีที่แล้ว 67,673.3 ล้านบาท สำหรับปีนี้สามารถทำยอดออกมาเป็นบวกได้ร้อยละ 3 ส่วนไตรมาสที่สองภาคเอกชนประเมินว่าจะสามารถทำตัวเลขเป็นบวกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 สำหรับตลาดหลักของมีสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ประเมินว่าหลังจากที่ปัญหาการระบาดโควิด-19 น้อยลงและควบคุมได้คิดว่าอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาสามารถมีวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนตลาดต่างประเทศมั่นใจว่าปีนี้ทั้งปีตัวเลขส่งออกกลุ่มอาหารทะเลและแปรรูปของไทยจะโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปีนี้ได้ . – สำนักข่าวไทย