กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-กพท.ยอมรับมี 2 สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อน แอร์ จะเริ่มบินเดือนพฤษภาคมนี้ โดยไทยแอร์เอเชียเริ่ม 1 พ.ค. ส่วนไทยไลอ้อนแอร์ ขอดูเงื่อนไขการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปลายเดือนเมษายน ส่วนจะเปิดบินในประเทศไปจังหวัดใดบ้าง ขึ้นกับการปลดล็อกดาวน์แต่ละจังหวัดด้วย
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ 20 สายการบิน ทั้งสายการบินที่บินตามตารางในประเทศและสายการบินเช่าเหมาลำ หรือ charter flight ว่า วันนี้ได้ประชุมหารือกับสายการบิน เนื่องจากบางสายการบินแจ้งว่ามีความพร้อมที่จะกลับมาบินเส้นทางในประเทศ เบื้องต้นมี 2 สายการบินที่มีความพร้อมทำการบินวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ คือ สายการบินไทยแอร์เอเชียและสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ไลน์
สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชียจะเริ่มบินวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ส่วนสายการบินไทยไลอ้อนแอร์จะขอพิจารณาเงื่อนไขการประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่คาดว่าจะออกมาก่อนวันที่ 30 เมษายนนี้ เพื่อกำหนดวันเริ่มบินต่อไป
ส่วนแต่ละสายการบินจะกลับมาบินเส้นทางไหนบ้าง จะมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ การปลดล็อกดาวน์แต่ละจังหวัด ซึ่งบางจังหวัดมีการปิดสนามบิน เช่น ภูเก็ต ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สายการบินจะเปิดบริการบินไปได้ ขณะเดียวกันขณะนี้ กพท.ยังกำหนดมาตรการให้การจำหน่ายตั๋วของสายการบินทำได้ในสัดส่วน 70% ของจำนวนที่นั่งบนเครื่องแต่ละแบบ โดยเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ซึ่งสายการบินจะพิจารณาเรื่องความคุ้มทุนของการเปิดให้บริการแต่ละเส้นทางประกอบด้วย
ขณะ กพท.จะนำมาตรการทางสาธารณสุขมาใช้เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะการใช้มาตรการ social distancing โดยจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขายตั๋ว เข้าสนามบิน ส่วนบนเครื่องบินจะจัดที่นั่งเว้นที่นั่ง แต่สำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินใบพัดขนาด 70 ที่นั่ง จะให้นั่ง 49 ที่นั่ง หรือบรรทุก 70% เท่านั้น ส่วนเที่ยวบินที่ทำการบินเกิน 90 นาที จะให้เตรียมที่นั่ง 2 แถวสุดท้าย กรณีพบว่ามีผู้ป่วยในเที่ยวบินนั้น
ส่วนผู้โดยสารจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ หากไม่สวมหน้ากากอนามัยจะไม่สามารถใช้บริการสายการบิน นอกจากนี้ จะไม่มีบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน เนื่องจากหากมีการรับประทานอาหารก็ต้องเปิดหน้ากาก ซึ่งจะเป็นโอกาสในการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ จะไม่อนุญาตให้นำอาหารขึ้นเครื่อง ทั้งนี้ กพท.จะออกประกาศมาตรการทางสาธารณสุขที่ใช้สำหรับการบินวันนี้
ขณะที่ราคาค่าตั๋วโดยสารยืนยันว่ายังไม่อนุญาตให้มีการปรับราคา แต่อาจจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสายการบิน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่เกินเพดานขั้นต่ำ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ปัจจุบันสายการบินคำนวณค่าโดยสารประมาณ 3-5 บาทต่อกิโลเมตร โดยผู้อำนวยการ กพท.ย้ำว่าการปรับค่าโดยสารของสายการบินขณะนี้ หากปรับสูงเกินไปก็จะเกิดปัญหากับสายการบินเอง เพราะประชาชนจะไม่ใช้บริการ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้การเดินทางท่องเที่ยวไม่มีผู้โดยสารใช้บริการแน่นอน จึงเหลือผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจริง ๆ เท่านั้นที่จะใช้บริการ
ส่วนกรณีสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินใดที่มีความประสงค์ที่จะทำการบิน ส่วนการขยายเวลาห้ามทำการบินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะหมดอายุวันที่ 30 เมษายนนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน COVID-19 ยังมีการระบาดมากขึ้นในต่างประเทศ ทำให้การตัดสินใจเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศเข้ามาไทยยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ.-สำนักข่าวไทย