กทม. 22 เม.ย. – หลังจากรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงโควิด-19 ระบาด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มีข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า อาจทำให้ราคาค่าไฟลดลงได้อีก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้ทำงานจากบ้านเพิ่มมากขึ้น ใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก และต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นตามอัตราก้าวหน้า หลายคนพบบิลค่าไฟเดือนมีนาคมเพิ่มเท่าตัว รัฐบาลจึงออกมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้า 3 เดือน มีทั้งให้ใช้ไฟฟ้าฟรี หากไม่เกิน 150 หน่วย และได้ส่วนลด 50 และ 30% ตามเงื่อนไข
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยลดภาระให้กับประชาชนได้ ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก แต่การออกมาตรการลดค่าไฟรัฐอาจต้องใช้เงินอุดหนุนส่วนต่างจำนวนมาก
มีข้อมูลว่า มีไฟฟ้าสำรองในระบบมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้ถึงกว่าร้อยละ 60 จากแผนที่ควรสำรองไว้ร้อยละ15 ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระนอกจากเป็นค่าไฟฟ้าที่ใช้จริง แล้วยังต้องรับภาระจากค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นค่าตอบแทนการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า ของ กฝผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เสนอให้ทบทวนปรับลดต้นทุนราคาไฟฟ้า เช่น การเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้า ให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลง รวมทั้งหาทางลดต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงนี้
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบอยู่ที่กว่า 45,000 เมกะวัตต์ กฝผ.ผลิตได้เองกว่า 15,000 เมกะวัตต์ และผลิตจากแหล่งอื่น เช่น จากโรงไฟฟ้าเอกชนและต่างประเทศกว่า 30,000 เมกะวัตต์ และมีการใช้เชื้อเพลิงหลานชนิดในการผลิต ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานน้ำ มีการเสนอให้ทั้งรัฐและประชาชนเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน ไม่ใช่เฉพาะการสำรองไฟฟ้า แต่รวมถึงการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าเอง เช่น ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน หรือการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน เพราะนอกจากเป็นการกระจายความมั่นคงทางพลังงาน ยังลดภาระค่าใช้จ่าย และอาจสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าในช่วงวิกฤติด้วย. – สำนักข่าวไทย