กรุงเทพฯ 22 เม.ย. – กลุ่มโรงกลั่นฯ ขาดทุนสตอกไตรมาส 1/63 หลายหมื่นล้านบาท แนะรัฐแก้กฎหมายปรับสำรองน้ำมันดิบให้เหมาะสม ด้านกลุ่ม ปตท.ลดกำลังกลั่นร้อยละ 15-20 ทบทวนแผนลงทุนอนาคต ชะลอโครงการปิโตรฯ สหรัฐของจีซี พร้อมเสนอบอร์ด 30 เม.ย.ลดงบดำเนินการหลายพันล้านบาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้รับผลกระทบกระทบจากการใช้พลังงานและปิโตรเลียมที่ปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ส่งผลให้ขาดทุนสตอกน้ำมันในไตรมาสที่ 1/2563 ปริมาณสูง และจากการประเมินว่าผลกระทบจากโควิด-19 มีผลที่ยาวนานทั่วโลก ซึ่งไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้ ได้รับผลกระทบทั้งหมด ส่วนไตรมาส 3-4 คาดว่าน่าจะดีขึ้น เพราะหลายประเทศเริ่มคลายเรื่องล็อกดาวน์ จึงประเมินว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และจะเห็นได้ว่าโรงกลั่นฯ ทั่วโลกลดกำลังกลั่นในไทยก็ลดลงเช่นกัน โดยโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท.จะลดลงประมาณร้อยละ 15-20
นอกจากนี้ ทางกลุ่ม ปตท.ได้ทำแผนลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น โดยปรับแผนฯ การลงทุนติดตามทุกเดือน ล่าสุด เตรียมเสนอคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 30 เมษายน ซึ่งจะมีการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายดำเนินการ (OPEX ) ที่ไม่จำเป็นเป็นหลักพันล้านบาท แต่จะเป็นวงเงิน 7,000 ล้านบาท หรือไม่ ก็ต้องรอที่ประชุมฯ ว่าจะเห็นชอบอย่างไร รวมทั้งชะลอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทในเครือ
“นโยบายขณะนี้ต้องกอดเงินสดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด งบที่ไม่จำเป็นต้องพยายามลด และโครงการลงทุนในอนาคต ก็ต้องทบทวนตามดีมานด์-ซัพพลายด์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น โครงการ MARS หรือโครงการอะโรเมติกส์ของ บมจ.ไออาร์พีซี โครงการลงทุนปิโตรเคมีในสหรัฐของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (จีซี ) เป็นต้น”นายชาญศิลป์ กล่าว
ส่วนโครงการร่วมทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้ร่วมทุน 2 โครงการเป็นการร่วมมือกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ กัลฟ์ โดยในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ขณะนี้เดินหน้าตามแผนอยู่ระหว่างลงทุนถมทะเล ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระบะที่ 3 ยังไม่ได้ลงนามกับภาครัฐ ซึ่งกรณีภาครัฐจะเจรจาเพื่อเพิ่มผลตอบแทนนั้น ทาง ปตท.-กัลฟ์ ก็ต้องหารือกันว่าจะเสนออย่างไร โดยต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการลงนามสัญญาล่าช้ากว่าแผน ดังนั้น ก็อาจจะเจรจาเลื่อนระยะเวลาการเริ่มและขยายเวลาการลงทุนออกไปตามสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปปีนี้
ด้านรายงานข่าวจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ระบุว่าไตรมาส 1 ปีนี้โรงกลั่นต่าง ๆ ของไทยจะขาดทุนสตอกหลายหมื่นล้านบาท และจากความต้องการน้ำมันลดลงมากทุกภาคส่วน โรงกลั่นฯ ทั่วโลกลดกำลังกลั่นฯ โดยในแถบเอเชียที่มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย ได้ปรับลดกำลังการกลั่นลงประมาณร้อยละ 10-30 เช่นเดียวกับโรงกลั่นฯ ในประเทศไทยเอง ก็ทยอยลดกำลังการกลั่นลงตั้งแต่มีนาคม-เมษายนแล้ว โดยเดือนมีนาคมจะปรับลดกำลังการกลั่นไม่ได้มาก เนื่องจากต้องบริหารจัดการน้ำมันดิบที่สั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาแล้ว ส่วนในอนาคตจะทยอยปรับลดกำลังการกลั่นลงอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้น้ำมันว่าจะกลับมาได้เร็วเพียงใด
“ไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่าโรงกลั่นฯ ในประเทศทั้ง 6 แห่ง จะเผชิญปัญหาขาดทุนสตอกน้ำมันที่เก็บไว้ (stock loss) รวมกันหลายหมื่นล้านบาท เพราะราคาน้ำมันดิบสิ้นไตรมาส 1 ปรับลดลงประมาณ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากช่วงปลายปีที่แล้ว ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าความเสี่ยงจากการขาดทุนทางสตอกจะลดน้อยลง เพราะการปรับลดลงของราคาน้ำมัน น่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ด้านค่าการกลั่นประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2 จะดีขึ้นจากไตรมาส 1 และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีตามสถานการณ์คลี่คลายของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้อาจไม่ได้กลับมารวดเร็วมากนักอาจใช้เวลาจนถึงสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า กว่าที่กิจกรรมต่าง ๆ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงสุดกว่าทุกวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และโลกไม่ได้เผชิญกับวิกฤติที่รุนแรงแบบนี้มากว่า 30 ปีแล้ว” แหล่งข่าว ระบุ
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนการที่ภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนการจัดเก็บสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 4 ในช่วง 1 ปีนั้น สามารถแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับโรงกลั่นฯ ในประเทศได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนและภาระดอกเบี้ย ทั้งยังสามารถนำถังเก็บไปใช้ประโยชน์ในการจัดซื้อน้ำมันดิบที่เหมาะสมกับโรงกลั่นมาเก็บได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบขณะนี้ยังผันผวนตามกระแสข่าวต่าง ๆ ซึ่งต้องจับตาเป็นรายวัน และหากมองไปข้างหน้า ราคาน้ำมันที่ต่ำลงสะท้อนจากปริมาณการผลิตที่เกินความต้องการใช้อย่างมากทำให้การจัดหาน้ำมันดิบง่ายขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อลดการขาดทุนสตอกน้ำมันของกลุ่มโรงกลั่น ซึ่งเผชิญมาตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ราคาน้ำมันตกต่ำจากปริมาณการผลิต Shale Oil ในปี 2557 ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะพิจารณาอัตราการสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อลดการขาดดุลของประเทศ.-สำนักข่าวไทย