กรุงเทพฯ 22 เม.ย.- รมช.ศธ. ย้ำเรียนออนไลน์สู้ภัยโควิด-19 โรงเรียนหยุด ความรู้ไม่หยุด สั่งผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ตอบโจทย์จัดการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เดินหน้าปรับแผนการเรียนรู้ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดยนำการเรียนในรูปแบบการศึกษาออนไลน์ มาเป็นอีกช่องทางสำคัญในการบริหารจัดการเรียนรู้ เพราะ โรงเรียนหยุด ความรู้ไม่หยุด
นางกนกวรรณ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงาน กศน. โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) ผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุเพื่อการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การจัดศึกษาตลอดชีวิต สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย อาทิ รายการ ETV ติวเข้มออนไลน์ รายการภาษาเพื่ออาชีพ รายการเพื่อผู้สูงอายุ รายการเสริมทักษะสำหรับผู้พิการ รายการทักษะอาชีพดิจิทัล โดยส่งตรงถึงบ้าน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รวมทั้ง ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ http://www.etvthai.tv. YouTube ช่อง “ETV ติวเข้มออนไลน์”, Facebook “ETV สื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษา”, LINE Official Account “ETV สื่อดิจิทัล”
นอกจากนี้ นางกนกวรรณ กล่าวว่า สช.ได้เปิดตัวโครงการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ ด้วยระบบดิจิทัล สช. ที่รวมการเรียนการสอนออนไลน์ของ 7 สถานศึกษาเอกชน ทั้งแบบออนไลน์ Real time และบันทึกเทป VDO มีเนื้อหาครอบคลุม ตั้งแต่ ป.1-ม.6 ในทุกกลุ่มสาระวิชา โดยสามารถเข้าเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. ได้ 2 ช่องทาง คือ ใช้บริการผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) (www.opec.go.th) เลือกหัวข้อ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. (https://odlc.opec.go.th/) หรือสามารถเข้าใช้บริการได้ที่หน้าเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. โดยตรงที่ URL https://odlc.opec.go.th/ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นมา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
นางกนกวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการขณะนี้ จะเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นในอนาคต และขอบคุณผู้บริหาร คุณครูและบุคลากรทุกท่าน ในสังกัด สช. และสำนักงาน กศน. ทั่วประเทศ ที่ให้ความร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนการจัดการศึกษาออนไลน์ จนเกิดความก้าวหน้าตามลำดับ และคาดว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคน จะสามารถผลักดันพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ รองรับการศึกษาในทุกมิติต่อไปในอนาคต .- สำนักข่าวไทย