พม. 20 เม.ย.-พม. ปล่อยขบวนรถคาราวาน “พม. เราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่ 34 ชุมชนนำร่องใน กทม.ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนจากโรคโควิด-19
เช้าวันนี้ (20 เม.ย.) นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off ปล่อยขบวนรถคาราวาน “พม. เราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่ 34 ชุมชนนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ณ บริเวณด้านหน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว
นายปรเมธี กล่าวว่า ตามที่กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกัน แก้ไขและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน”เพื่อลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วที่สุดในชุมชนนำร่อง 286 ชุมชน ของ กทม.ภายใต้การดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จำนวน 195 ชุมชนและการเคหะแห่งชาติ(กคช.) จำนวน 91ชุมชน โดยวานนี้(19 เม.ย.) นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมฯ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง และเคหะชุมชนห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม. เป็น 2 ชุมชนแรก โดยมีการจัดตั้งศูนย์ชุมชนสู้ภัย Covid-19 ครัวกลาง และคลังชุมชน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือต่างๆ
สำหรับวันนี้ (20เม.ย.) มีการ Kick Off ปล่อยขบวนรถคาราวาน “พม. เราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่ 34 ชุมชนนำร่องในพื้นที่ กทม.เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งทีมลงพื้นที่ชุมชนออกเป็น 7 ทีมๆ ละ 4-6 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 34 ชุมชน ประกอบด้วย 2 โซน คือ 1.ฝั่งธนบุรี ได้แก่ เขตหนองแขม และเขตบางบอน และ 2. ฝั่งพระนคร ได้แก่ เขตจัตุจักร เขตยานนาวา เขตดินแดง เขตสายไหม เขตหลักสี่ และเขตหนองจอก
การลงพื้นที่ดังกล่าว จะมีการเข้าไปจัดตั้งศูนย์ชุมชนสู้ภัย Covid-19 และโรงอาหารกลางของชุมชน อีกทั้งให้ความช่วยเหลือต่างๆ อาทิ การจำหน่ายสินค้าธงฟ้า ราคาประหยัด จากกระทรวงพาณิชย์ การให้ความรู้ในการป้องกันโรคโควิด-19 จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และการให้คำปรึกษาต่างๆ กรณี ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท การพักชำระหนี้บ้าน และสิทธิสวัสดิการสังคมจากรัฐ เป็นต้น
ส่วนชุมชนในความดูแลของ พอช.จะได้รับเงินสนับสนุน 100,000 – 300,000 บาทต่อชุมชน และการพักชำระหนี้ 3 เดือน และชุมชนในความดูแลของ กคช. จะได้รับการพักชำระหนี้ 3 เดือน และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
ทั้งนี้ ขอให้ชาวชุมชนอยู่รับความช่วยเหลือที่ชุมชนของตน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 และขอให้ติดตามตารางการลงพื้นที่ที่จะแจ้งไปยังชุมชนและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนต่อไป .-สำนักข่าวไทย