กรุงเทพฯ 18 เม.ย.- ศบค.เตรียมพิจารณาผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้เตือนว่า การกลับมาใช้ชีวิตปกติที่เร็วเกินไปอาจทำให้ “โควิด-19” อาจกลับมาระบาดอีกระลอก
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนเรียกร้องให้ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ภายหลังจากที่ตัวเลขผู้ป่วยลดลงและประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยองค์การอนามัยโลก( WHO) ออกมาเตือนว่าการกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติในหลายประเทศอาจจะยังเร็วเกินไป และการพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่การระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง
WHO กำหนดปัจจัยยกเลิกล็อกดาวน์ จะต้องพิจารณาดังนี้ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงมากที่สุดเช่น บ้านพักคนชรา โรงเรียนสำนักงานและสถานที่สาธารณะต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ และที่สำคัญคนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีหลายเรื่องประเทศไทยสามารถจัดการและดูแลได้ แต่การผ่อนคลายต่าง ๆ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งขณะนี้มีการประชุมเพื่อเตรียมข้อมูลจากทั้งบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ ฝ่ายปกครอง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.
“ตัวอย่างการผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เช่น การเปิดร้านตัดผม จะต้องจัดที่นั่งที่นอนสระผมให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ให้มีที่นั่งรอในร้าน ใช้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยไม่มีบริการอื่น ๆ เช่นทำเล็บ งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ พนักงานต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือทุกครั้งที่ให้บริการ ให้พนักงานหยุดงานเมื่อมีอาการไข้ อาการทางเดินหายใจ รวมถึงต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้าร้าน
ส่วนตัวอย่างการเปิดห้างสรรพสินค้าจะต้องเปิดร้านที่มีบริเวณชัดเจน เป็นร้านที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ร้านโทรศัพท์ ธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้า จัดที่นั่งรอรับบริการห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ทยอยขยายการเปิดร้านทุกสัปดาห์เมื่อไม่พบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับห้าง จำกัดจำนวนคนเข้าไม่เกิน 1 คนต่อตารางเมตร หรือจำกัดระยะเวลาจอดรถ ไม่จัดกิจกรรมที่ให้คนรวมตัวกัน โซนอาหาร จัดที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร คัดกรองและอนุญาตเฉพาะผู้สวมหน้ากากเท่านั้นเข้าห้างได้
“ตัวอย่างเหล่านี้ หากทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตัวใหม่อย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การเว้นระยะห่างทางสังคม และถ้าสามารถทำได้ ภาครัฐจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการลง ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะพิจารณาและสรุปเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกแนวโน้มสถานการณ์โรค “โควิด-19” ดีขึ้น ฉะนั้น ยังประมาทไม่ได้ โดยต้องดูปัจจัย 3 ข้อหลัก 1.อัตราการป่วยรายใหม่ที่ต้องลดลงต่อเนื่อง 14 วัน 2.ผู้ป่วยหนักไม่เพิ่มมากขึ้น 3. อัตราการเพิ่มเร็ว หรือช้าขึ้น ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์ของโรคสงบลงหรือไม่ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนของสถานการณ์หลังวันที่ 30 เมษายนนี้
อย่างไรก็ตาม หากมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ประชาชนในสังคมยังต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยพื้นฐานของตนเองไว้ ทั้งการอยู่บ้านให้มากที่สุด ออกจากบ้านให้น้อยครั้ง โดยต้องมีระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร รวมถึงสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ.-สำนักข่าวไทย