มาตรฐานชุด PPE ต้องปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์

กทม. 16 เม.ย. – ช่วงนี้มีผู้เป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ซื้อชุด PPE และหน้ากาก N95 มาบริจาคจำนวนมาก แต่แพทย์พยาบาลไม่กล้าใช้ กังวลเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด ล่าสุดจุฬาฯ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดสอบมาตรฐาน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ปลอดภัย 


การนำเลือดสังเคราะห์ที่มีลักษณะความตึงผิว ความหนืด ค่าความเป็นกรดด่าง และการนำไฟฟ้า ใกล้เคียงกับเลือดจริง มาฉีดอัดลงบนตัวอย่างผ้าที่ใช้ผลิตชุด PPE ด้วยแรงดันในระดับต่างๆ เพื่อดูว่าสามารถป้องกันเลือดและสารคัดหลั่งซึมผ่านผ้าได้ในระดับใด เป็นหนึ่งในตัวอย่างการทดสอบมาตรฐานคุณภาพชุด PPE ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กำลังทดสอบร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลังพบว่าในช่วงนี้มีการบริจาคชุด PPE และหน้ากาก N95 มาให้โรงพยาบาลจำนวนมาก แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่กล้านำไปใช้ เพราะมีทั้งของปลอม และของไม่มาตรฐาน กังวลถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะการนำไปใช้ในห้องไอซียูโควิด ที่มีการทำหัตถการ โอกาสติดเชื้อสูงมาก


ชุด PPE ชนิด Coverall ที่มีความปลอดภัย สามารถใช้ในห้องไอซียูโควิดได้ ควรจะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐาน มีประสิทธิภาพสะท้อนน้ำไม่ให้ซึมผ่านใน 1 นาที ทนแรงดันจากเลือดสังเคราะห์ได้อย่างน้อย 20 กิโลปาสคาล ป้องกันไวรัสที่ผสมอยู่ในเลือดสังเคราะห์ได้ ป้องกันไวรัสและแบคทีเรียจากของเหลวที่ปนเปื้อนและเกิดการเสียดสีได้ ป้องกันการฟุ้งกระจายของไวรัสและแบคทีเรียได้ และป้องกันไวรัสที่ฟุ้งกระจายไปติดอยู่กับอนุภาคของแข็ง เช่น ฝุ่น ได้ 


ปัจจุบันชุด PPE ชนิด Coverall ยังไม่มีการผลิตในไทย การทดสอบนี้เพื่อตรวจสอบคุณภาพ แยกเกรดชุด PPE ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้งานอย่างเหมาะสม และเกิดความปลอดภัยสูงสุด อีกทั้งยังสามารถต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาและผลิตได้เองในอนาคต

     

ส่วนหน้ากาก N95 ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ร่วมกับหลายหน่วยงาน ศึกษาโครงสร้างทางกายภาพของหน้ากากที่มีอยู่ 3-4 ชั้น แต่ละชั้นของแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็มีลักษณะเส้นใยที่แตกต่างกัน เก็บเป็นฐานข้อมูลนำไปตรวจสอบได้ว่าหน้ากากที่นำมาบริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ เป็นของจริงและมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสได้หรือไม่ 

     

อีกทั้งยังทำการทดสอบพบว่า สามารถใช้แสงยูวีซีฆ่าไวรัสโควิด-19 บนหน้ากาก N95 ได้ แต่ต้องใช้หลอดที่มีเพาเวอร์ 15 วัตต์ มีความเข้มของแสง UVC อยู่ที่ 1-2 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร การวางหน้ากากต้องอยู่ห่างจากหลอด UVC ไม่เกิน 10 เซนติเมตร ใช้เวลาฉายแสง 15 นาทีขึ้นไป รียูสหน้ากากด้วยวิธีนี้ได้ไม่เกิน 8 ครั้ง และไม่ควรสัมผัสแสง UVC โดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวไหม้และเป็นมะเร็งได้ ที่สำคัญระวังถูกหลอกให้ซื้อหลอด UVC ปลอม ไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19ได้จริง

การรียูสหน้ากากด้วยวิธีนี้ เป็นเพียงหนึ่งทางเลือกในช่วงที่ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน อีกคำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ นำชุด PPE และหน้ากาก N95 มาบริจาคให้ครั้งละ 10 ชุด 20 ชุด ซึ่งจัดซื้อมาจากแหล่งที่หลากหลาย ประสิทธิภาพในการป้องกันก็แตกต่างกัน แพทย์และพยาบาลจึงไม่กล้านำไปใช้ ทางที่ดีควรสมทบทุนให้โรงพยาบาลไปจัดซื้อเองรวมเป็นลอตใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ถูกโก่งราคา และบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง. – สำนักข่าวไทย   

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ทหารทำร้าย

ทบ.ตั้ง กก.สอบปมกรมยุทธศึกษาทหารบก ทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชา

“ธนเดช” เผย กมธ.ทหาร รับเรื่องร้องเรียนเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะ ทบ. ตั้งกรรมการสอบแล้ว หวังเป็นตัวอย่างการลงโทษผู้บังคับบัญชาระดับสูงหากพบผิดจริง

“บิ๊กแจ๊ส” ลั่นพร้อมดูแลสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ให้เป็นปอดประชาชน

“บิ๊กแจ๊ส” ลั่นหากได้รับถ่ายโอน อบจ.ปทุมฯ พร้อมจัดงบดูแลสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ให้เป็นปอดประชาชน หลังขาดพื้นที่ออกกำลังกาย แต่จะกระทบความมั่นคงหรือไม่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องคุยกันต่อ

ข่าวแนะนำ

ทนายดิไอคอน แจ้งความเอาผิด “กฤษอนงค์-ฟิล์ม” พยายามฉ้อโกง

“ทนายบอสพอล” แจ้งความเอาผิด “กฤษอนงค์-ฟิล์ม” พยายามฉ้อโกง จ่อฟันเอาผิดเพิ่ม 89 ขบวนการอ้างตัวเป็นผู้เสียหาย

นายกฯ เผยเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง เล็งออกมาตรการช่วยผู้สูงอายุ

นายกฯ เป็นประธานประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก เผยจีดีพีรวม 3 ไตรมาส 2.3% ฟื้นตัวต่อเนื่อง เล็งออกมาตรการช่วยกลุ่มผู้สูงอายุต่อไป