สปสช.16 เม.ย.-สปสช.พร้อมช่วยเหลือผู้ให้บริการ 2เท่าตามมติ ครม.หาก ปฏิบัติหน้าที่ได้รับความเสียหายจากกรณีโควิด-19 เป็นผู้เสียสละรับความเสี่ยงดูแลผู้ป่วยและควบคุมโรค ครอบคลุม อสม.ตามที่หน่วยบริการมีหนังสือมอบปฏิบัติภารกิจโควิด-19
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์เป็นด่านหน้าสำคัญในการรับมือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั้งการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน ถือเป็นผู้ที่มีความเสียสละอย่างยิ่งเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อในการปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ซึ่งรวมถึงเพิ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม
โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานบอร์ด ได้เห็นชอบตามอัตราการจ่ายดังกล่าวโดยใช้เงินจากงบกลางที่ได้รับเพิ่มเติมจากรัฐบาลกรณีโควิด-19 ในการจ่ายช่วยเหลือใน 3 กรณี ดังนี้
1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 480,000-800,000 บาท
2. กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 200,000-480,000 บาท
3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเสียหาย โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาในการช่วยเหลือต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือความเสียหายในการให้บริการกรณีโรคโควิด-19 นี้ จะครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพที่ทำงานยังหน่วยบริการภาครัฐ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น
ส่วนกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำหน้าที่คัดกรองโรค ติดตามผู้ที่อยู่ในการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น สปสช.มีนโยบายในการดูแลเช่นกันตามที่หน่วยบริการได้มีหนังสือมอบหมาย อสม.ในการปฏิบัติหน้าที่กรณีโควิด-19 โดยจะดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงินและรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 ในหมวด 5 ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ .-สำนักข่าวไทย