นนทบุรี 15 เม.ย. – พาณิชย์เตรียมพลิกโควิดเป็นโอกาส เดินสายจับมือภาคการผลิต การตลาด การส่งออก ทั้งข้าว-อาหาร-บริการ ฟื้นเศรษฐกิจ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า จากการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เตรียมการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพลิกโควิดเป็นโอกาสโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทย ทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลไม้ต่าง ๆ อาหารสำเร็จรูป ไก่ อาหารทะเล และภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร แฟรนไชส์ โลจิสติกส์ และดิจิทัลคอนเทนท์ โดยจะหารือกับเกษตรกร สหกรณ์ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางขนาดย่อม ตลาดการค้าส่งค้าปลีก โมเดิร์นเทรด แพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ส่งออก โดยเป้าหมายใหญ่คือ เตรียมพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตและการตลาดในช่วงหลังโควิด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าโดยรวม รวมทั้งเศรษฐกิจฐานรากในที่สุดด้วย
ทั้งนี้ กรมต่าง ๆ กำลังจัดเตรียมเปิดรับฟังปัญหา หาวิธีการแก้ปัญหาในพื้นที่ และวางแผนการทำงานในอนาคต ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ หลากหลายในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 โดยต้องการให้กระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และใช้กลไกที่กระทรวงมีอยู่แล้ว เช่น พาณิชย์จังหวัด พาณิชย์ต่างประเทศ เสริมกับเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ แอปพลิเคชั่น และหาแนวทางการเชื่อมโยงกลไกของกระทรวงพาณิชย์กับองค์กรภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทยทั้งในประเทศ และการส่งออก รวมทั้งท่านได้สั่งการให้พิจารณาของบประมาณเพิ่มเติมหากจำเป็น เช่น เตรียมเงิน คชก.ไว้สำหรับเกษตรกร โดยเห็นว่า แม้สถานการณ์โควิดจะยังไม่หมดสิ้นไป แต่กระทรวงพาณิชย์จะอยู่เฉยไม่ได้ต้องเร่งเตรียมการ เมื่อมีโอกาสจะขับเคลื่อนการค้าได้ทันที
อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการหากับกลุ่มต่าง ๆ ข้างต้น สนค.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และคัดเลือก 37 รายการสินค้าศักยภาพ บางรายการตลาดโลกยังอาจจะนำเข้าจากไทยเพิ่มได้ เช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกเพียงร้อยละ 4.4 หรือลิ้นจี่ไทยมีสัดส่วนตลาดโลกร้อยละ 6 ขณะที่สินค้าบางรายการไทยทำได้ดีอยู่แล้วแต่ต้องรักษาไม่ให้สัดส่วนลดลง เช่น ข้าวสาร ทูน่ากระป๋อง และไก่แปรรูป ซึ่งมีสัดส่วนตลาดโลกที่ร้อยละ 24.6, 27.3 และ 31.2 ตามลำดับ
นอกจากนี้ สนค.ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารในอนาคต (Future food trends) โดยคัดเลือก 6 แนวโน้มที่ไทยอาจจะรุกตลาดมากขึ้น ได้แก่ 1. ตลาดอาหารรักษาสุขภาพ 2. อาหารที่มีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3 . สินค้าพรีเมี่ยมที่มีจุดขายเฉพาะ เช่น น้ำตาลต่ำ อาหาร plant-based หรือคีโต (ketogenic) 4.อาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย 5. การให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากขึ้นและโปร่งใส และ 6. สินค้าที่มีเรื่องราว เช่น สินค้า GI, OTOP เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าฮาลาลอีกกลุ่มหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนต่อไป .-สำนักข่าวไทย