อภ.15 เม.ย.-องค์การเภสัชกรรมเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังมียาใช้อย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือ รพ.บริหารจัดการจัดสรรยาให้เหมาะสม ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19
ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบของยา เช่น จีน อินเดีย อเมริกา และประเทศแถบยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านั้นใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาในการจัดส่งวัตถุดิบยา บรรจุภัณฑ์ ประกอบกับหลายโรงพยาบาลเริ่มใช้นโยบายจ่ายยาสำหรับโรคเรื้อรังล่วงหน้า 6 เดือนเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ทำให้มีการสำรองยามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนยาจำเป็นที่ต้องใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ใน 5-6 รายการ ซึ่งเป็นสถานการณ์กะทันหันที่ อภ.ไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน ในช่วงแรกนั้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตและสำรองยาอยู่บ้างในยาบ้างรายการ
ภญ.มุกดาวรรณ กล่าวต่อว่า เดิมในภาวะปกติ อภ.จะมีแผนสั่งซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆสำหรับการผลิตไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งอาจมีวัตถุดิบบางรายการต้องกำกับดูแลเป็นพิเศษ โดยจะมีการทยอยผลิตเป็นยาสำเร็จรูปสำรองไว้ในคลังในจำนวนที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เมื่อเริ่มมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา เมื่อปลายเดือนมกราคม อภ.ได้ปรับแผนการผลิตมาต่อเนื่อง มุ่งเน้นกลุ่มยาจำเป็นโรคเรื้อรังเป็นสำคัญ โดยเร่งให้มีการส่งมอบวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิตต่างๆเร็วขึ้น หากวัตถุดิบบริษัทไหนติดขัดเรื่องการส่งมอบ จะทำการจัดซื้อจากแหล่งวัตถุดิบแห่งใหม่ 2-3 แห่ง ที่ได้รับการตรวจรับรองคุณภาพแล้ว เพื่อนำมา ใช้ในการผลิตได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการ พร้อมทั้งได้ติดตั้งเครื่องบรรจุยาลงแผงอัตโนมัติความเร็วสูงจากประเทศเยอรมันอีกหลายเครื่อง
ขณะเดียวกันได้แสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง เช่น ยาซิมวาสแตติน(Simvastatin)ใช้ลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ขณะนี้มีแหล่งวัตถุดิบจำนวน 5 ราย ในประเทศอินเดีย อภ.สามารถเพิ่มกำลังผลิต จาก 56 ล้านเม็ด/เดือน เป็น 62 ล้านเม็ด/เดือน ยาแอมโลดิพีน (Amlodipine) รักษาความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ขณะนี้มีแหล่งวัตถุดิบ จำนวน 3 ราย ในประเทศอินเดีย อภ.เพิ่มกำลังผลิตจาก 50 ล้านเม็ด/เดือน เป็น 75 ล้านเม็ด/เดือน
ส่วนยาเมทฟอร์มิน (Metformin)ยาใช้รักษาโรคเบาหวาน อภ.สามารถเพิ่มกำลังผลิตจาก 75 ล้านเม็ด/เดือนเป็น106 ล้านเม็ด/เดือน ยาลอซาร์แทน (Losartan) ใช้ลดความดันโลหิตที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ขณะนี้มีแหล่งวัตถุดิบ จำนวน 3 ราย ในประเทศจีน 1 รายและประเทศอินเดีย 2 ราย กำลังผลิตเป็น 27 ล้านเม็ด/เดือน
ยาต้านไวรัสเอดส์ทั้ง 22 รายการนั้นได้เพิ่มกำลังการผลิตทุกรายการด้วยแล้วเช่นกัน โดยในภาพรวมแล้วคาดว่าเดือนเมษายน อภ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเพิ่มกำลังการผลิตยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
“อภ.ไม่นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ของวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะยุติหรือเบาบางลงเมื่อไร จึงได้ทำการหาแหล่งวัตถุดิบแหล่งใหม่สำรองเพิ่มเติมไว้อย่างต่อเนื่องแล้ว มั่นใจได้ว่า อภ.ยังคงสามารถผลิตยาได้ตามความต้องการและคงราคายาไว้ตามเดิมแม้สถานการณ์ต่างๆจะไม่เอื้ออำนวยมากนัก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะยังคงมียาใช้อย่างต่อเนื่อง” รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าว
พร้อมขอความร่วมมือโรงพยาบาลต่าง ๆ ช่วยบริหารจัดการและจัดสรรทยอยส่งยาให้ผู้ป่วยตามรอบการรักษา สอดคล้องกับปริมาณยาที่ อภ.จัดส่งไปสำรองทุก1-2 เดือน โดยจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ซึ่งสปสช.ได้จัดงบชดเชยให้หน่วยบริการเพิ่มเติมในอัตราไม่เกิน 50 บาท/ครั้ง หรือโครงการรับยาใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมียาใช้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์นี้ .-สำนักข่าวไทย